วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553


รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)


คณะรัฐมนตรีคณะที่ 59 (17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม คณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ 1 (ครม. อภิสิทธิ์ 1)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรด
กระหม่อม แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


รายชื่อคณะรัฐมนตรี

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกรัฐมนตรีี
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายกรณ์ จาติกวานิชย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายอิสสระ สมชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร.ต.หญิงระนองรัตน์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นางพรทิวา นาคาสัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายไพฑูรย์ แก้วทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายธีระ สลักเพชร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


การถวายสัตย์ปฏิญาณ


เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 17.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในการนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่

"ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ฟังรัฐมนตรี ที่จะเข้ารับหน้าที่ต่อไปนี้ได้ปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างดี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งท่านมีหน้าที่ที่สำคัญที่สุด เพราะว่าจะต้องทำให้ประเทศชาติมีความสุข ความเรียบร้อย ถ้าท่านทำงานเรียบร้อย ทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบุญสำหรับประเทศ เพราะว่าประเทศต้องมีคนที่ดูแลความเป็นอยู่อย่างดี มิฉะนั้น ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานของประชาชนทั่วไปได้ดีนัก แต่ถ้าท่านได้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสุข ความเรียบร้อย ก็ทำให้ประเทศชาติเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนคนไทยทุกคน ที่จะให้ประเทศชาติดำเนินไปโดยดี เพราะว่าถ้าไม่สามารถที่จะมีความเป็นไทยอยู่ได้ ก็ขอให้ท่านพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะให้คนไทยมีความเรียบร้อย มีความสุขเพราะว่าถ้าทำไม่ดีจะเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งสูง หรือ คนทั่วๆ ไป ทำไม่ดี คนหนึ่งคนใด ก็ทำให้ประเทศชาติล่มจมได้ และก็ท่านก็มีหน้าที่สำคัญเพราะท่านอยู่สูง มีหน้าที่สูง ก็จะต้องทำให้ประเทศชาติดำเนินไปโดยดี ก็ขอให้ท่านสามารถปฏิบัติงาน เพื่อความดีของประเทศ ความสงบสุขของประเทศ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สุด ถ้าท่านทำได้ท่านเองก็มีความสุข และประชาชนทั่วไปทุกพวก ทั้งหมู่ ทั้งเหล่า ทุกเหล่าได้มีความสุขทั้งนั้น คนไหนจะทำอะไรก็สามารถจะปฏิบัติงานได้ ถ้าท่านช่วยกันดูแลประเทศชาติให้มีความราบรื่น ท่านเองก็มีความสุขเหมือนกัน ฉะนั้นที่ท่านตั้งใจที่จะปฏิบัติงานโดยดีนั้น เป็นความดีที่ท่านจะทำสำหรับตัวเองด้วย สำหรับส่วนรวมด้วย เพราะว่า ถ้าส่วนรวมอยู่ดีท่านก็อยู่ดี ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงานโดยเรียบร้อย ทำให้ทั้งประเทศมีความราบรื่น ซึ่งเราต้องการความสงบของประเทศ ก็ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงาน โดยเรียบร้อยทุกอย่าง และขอให้ท่านมีความสำเร็จในงานการแต่ละส่วนที่ท่านต้องทำ"

นโยบายและผลการดำเนินงานของรัฐบาล
รัฐบาลได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ

การแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน ได้แก่ โครงการเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยเลี้ยงชีพผู้สูงอายุ เช็คช่วยชาติ ต้สกล้าอาชีพ ชุมชนพอเพียง ธงฟ้าช่วยประชาชน โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน ช่วยค่าครองชีพ โครงการ 3 ลด 3 เพิ่มแก้ปัญหาว่างงาน โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โครงการ อสม.เชิงรุก และโครงการช่วยเหลือ SMEs
สร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย และสร้างความสมานฉันท์ ได้แก่ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศไทย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างความสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
การวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ รถไฟฟ้า 5 สาย ถนนปลอดฝุ่น การปรับปรุงสถานีอนามัย และ 5 รั้วป้องกันยาเสพติด
แก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ได้แก่ 2 ลด 3 เร่ง ยุทธศาสตร์รับ-รุกไข้หวัดใหญ่
ดำเนินการตามคำเรียกร้องของประชาชน



เรียนฟรี 15 ปี
รัฐบาลให้ความสำคัญในการจัดการศึกษา โดยมุ่งเน้นการส้รางโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนได้มีโอกาสเท่าเทียมกัน โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 19,296,100,000 บาท เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ทุกคนได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างเท่าเทียมกัน 15 ปี ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่าย 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในปัจจุบันได้มีการดำเนินการไปแล้วร้อยละ 77 หรือเป็นเงินประมาณ 18,575,470,000 บาท ส่วนหนึ่งยังมีผู้ปกครองที่มีรายได้พอสมควรไม่ประสงค์จะรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลนำเงินในส่วนนี้ไปช่วยในการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นธุรกันดาร 577 โรง รวมเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท[3]

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
รัฐบาลต้องการสร้างหลักประกันรายได้ เป็นการตอบแทนการทำงานหนักมาตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ โดยการจ่ายเงินค่ายังชีพ จำนวน 500 บาท ต่อเดือน ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

อสม. เชิงรุก
รัฐบาลเห็นความสำคัญของการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีอยู่ 987,019 คนทั่วประเทศ ให้ได้รับเงินค่าสวัสดิการตอบแทน (ค่าป่วยการ) ในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน[5]

การดูแลสุขภาพ
อภิสิทธิ์สานต่อนโยบายเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เขาเตือนว่าสิทธิบัตรยาที่อยู่ในสภาวะถูกกดดันอย่างนี้อาจบานปลายมากยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าสหรัฐอเมริกาทำสภาพการค้าของประเทศไทยให้ตกต่ำลง[6]

การออกกฎหมาย
พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มโทษหนักกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้ทัศนคติของบุคคลที่ดูหมิ่นและมีความต้องการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก 3 - 20 ปี หรือปรับ 200,000 - 800,000 บาท[7] ในเวลาเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่ามี 29 เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาและข้อความแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์.[8]

การตรวจสอบขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
การตรวจตราขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดยเปรียบเทียบรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร[9] อภิสิทธิ์จัดตั้งกองกำลังทหารเฉพาะกิจที่คอยต่อสู้กับอันตรายจากความคิดเห็น ที่พิจารณาถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดเว็บไซต์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนแจ้งเว็บไซต์ผิดกฎหมาย มีเว็บไซต์กว่า 4,800 เว็บไซต์ถูกบล็อก เนื่องจากมีเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การเคลื่อนไหวถูกมองโดยนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่รณรงค์ร่วมกันเพื่อระงับการอภิปรายทางการเมืองภายในราชอาณาจักร

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นที่ทำการของเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่คอยจ้องจับผิดรัฐบาล หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่บนพื้นฐานของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 วันถัดมา อภิสิทธิ์ไปพบกับตัวแทนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยและสัญญาว่าจะเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ที่แสดงสีหน้าในขณะที่มีการพัฒนาบรรทัดฐานและมาตรฐานใหม่[11]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ดูเพิ่มที่ ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2551
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีคำสั่งเรียกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ กลับประเทศ เพื่อเป็นการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ตอบโต้การให้สัมภาษณ์กล่าวหากระบวนการยุติธรรมของไทย และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ จากกรณีที่กัมพูชาแต่งตั้งพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทักษิณ ถือเป็นนักโทษที่ประเทศไทยต้องการตัวตามหมายจับในคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งมีโทษจำคุก 2 ปี[12]

เช็คช่วยชาติ
วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทย จำนวนผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 คน โดยเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2551[13] ในต้นปี พ.ศ. 2552 เศรษฐกิจถูกคาดหวังว่าจะ ว่าจ้างตามสัญญา 3% ตลอดทั้งปี[14] เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยสร้างกำลังซื้อภายในประเทศในวงกว้างอย่างทั่วถึง เห็นผลเร็วและรั่วไหลน้อยที่สุด เพื่อพยุงเศรษฐกิจช่วงเวลาที่เศรษฐกิจหดตัวในระยะเร่งด่วน โดยการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศโดยนำเงินใส่มือประชาชนผู้มีรายได้น้อยโดยตรง รายละ 2,000 บาท (สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท)[15]

การตอบรับ
คำชื่นชม
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 08.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจาง จิ่ว หวน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้เดินทางเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้น นายจาง จิ่ว หวน เปิดเผยว่า มาเยี่ยมคำนับและนำสาส์นจากนายกรัฐมนตรีจีนมาแสดงความยินดีกับนายอภิสิทธิ์ในโอกาสดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลจีนและประชาชนจีนจะยึดถือนโยบายเป็นมิตรกับประเทศไทย โดยจะพัฒนาความร่วมมือด้าน เศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์ การศึกษา การท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ยืนยันจะเดินทางไปเยือนจีนในเวลาที่เหมาะสม นายจาง จิ่ว หวน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทยได้ยืนยันที่จะมีการจัดการประชุมอาเซียนซัมมิท ในเร็วๆนี้ โดยจะมีหลายประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งอินเดีย จีน เกาหลี เป็นต้น

และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายควินตัน เควลย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวหลังเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า นายอภิสิทธิ์ มีคุณสมบัติและความ สามารถที่ดีเยี่ยม เพราะเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอีตัน อีกทั้งจบมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลชุดนี้มีภารกิจใหญ่ 4 ประการคือการฟื้นความมั่นใจของนานาชาติในประเทศไทย สร้างความสมานฉันท์ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง โดยยึดหลักนิติธรรม รักษาความปลอดภัยของสนามบิน ซึ่งถือเป็นประตูในการท่องเที่ยวของไทย สร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งจะดึงให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ในการเข้าพบครั้งนี้ ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นแฟนฟุตบอลอังกฤษ จึงได้มอบของขวัญเป็นเสื้อยืดนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด โดยด้านหลังมีชื่อ นายอภิสิทธิ์ และหมายเลข 27 ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552 เวทีการเสวนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่าเข้าถึงคุณค่าและเข้าใจความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยามเศรษฐกิจถดถอย[16]

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้นำเสนอคำชื่นชมของสื่อต่างประเทศ ได้แก่ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวเอ็นเอชเค และสำนักข่าวอื่นๆ ว่าได้นำเสนอข่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ในการชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดงได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด นอกจากนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ ยังได้นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ว่า การจลาจลของกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้อาจเป็นความพยายามเฮือกสุดท้ายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อกลับคืนสู่อำนาจ ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังสามารถฟื้นฟูความน่าเชื่อถือที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ [17]

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552 นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประเมินผลการทำงานของรัฐบาลในช่วง 1 ปีโดยให้คะแนนในระดับ บี เพราะท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ต่อให้หาเทวดาที่ไหนมาทำงาน ก็ไม่สามารถทำได้ดีไปกว่านี้แล้ว ที่สำคัญต้องการให้รัฐบาลพยายามประคองตัวเดินหน้าแก้ไขปัญหาของชาติต่อไปให้ได้ โดยไม่ให้เกิดการยุบสภาในเวลาที่เร็วเกินไป เพราะหากมีการยุบสภาเกิดขึ้นเร็ว ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันต้องดูแลอย่าให้เกิดความขัดแย้งเพราะจะบั่นทอนความเชื่อมั่นลงไปอีก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นทันตาเห็นทันทีแต่จะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หรือทำให้ลูกหลานของเราเดือดร้อน[18]

คำวิจารณ์
เมื่อช่วงสายวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่พรรคเพื่อไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงว่า ขอเสนอฉายา ครม.อภิสิทธิ์ 1 เพื่อให้ประชาชนโหวตเลือกระหว่างฉายา "ครม.ต่างตอบแทน" กับ "ครม.ไอ้โหนไอ้ห้อย" ผ่านทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2280-6888

ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ให้สัมภาษณ์ถึงโฉมหน้า ครม.อภิสิทธิ์ 1 ว่า เป็นรัฐบาลที่ไปปล้นเขามา ปล้นกลางอากาศ หรือไฮแจ็ค โดยไม่เกรงใจและไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน [19]

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมพรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีปราศรัยใหญ่ช่วย นายขจิตร ชัยนิคม ผู้สมัครเลือกซ่อม ส.ส.เขต 1 มหาสารคามหาเสียงว่า หลังเลือกตั้งวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2551 ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และขอตั้งฉายารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ว่า เป็น "รัฐบาลเด็กอนุบาล" เพราะมีมือที่มองเห็นและไม่เห็นช่วยอาบน้ำประแป้งให้เสร็จ แล้วเอาไปส่งโรงเรียนเอาใครก็ไม่รู้มาเป็นรัฐมนตรี [20]

ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงกรณีที่สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมถอนฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาลว่าตนของตั้งฉายาให้กับรัฐบาลชุดนี้ว่า รัฐบาลชุดป้ายสี ตัดตอน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการสมยอมกันของ นายลอยเลื่อน บุญนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยคดีดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมากกลับจะถอนฟ้อง มีการตัดตอนเพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม [21]

ผลสำรวจ
ดัชนีความสุข
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เอแบคโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 3,516 ตัวอย่างเกี่ยวกับดัชนีความสุขภายหลังการเปลี่ยนขั้วการเมือง ผลปรากฏว่าความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 4.84 ในช่วงเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ 6.55 จากคะแนนเต็ม 10 และถือว่าเป็นค่าความสุขที่สูงที่สุดตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 โดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 79.7 นอนหลับค่อนข้างสนิทถึงนอนหลับได้สนิทขึ้นหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว ในขณะที่ร้อยละ 9.7 นอนหลับได้ระดับปานกลาง และร้อยละ 10.6 นอนไม่ค่อยหลับถึงนอนไม่หลับเลย นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 38.2 คิดว่าทิศทางการเมืองจะดีขึ้นหลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 28.2 คิดว่าจะแย่ลง และร้อยละ 33.6 ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้[22]

ผลงานรัฐบาล
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ในทรรศนะของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ผลการสำรวจพบว่าผลงานรัฐบาลที่ประชาชนพอใจมากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อันดับที่หนึ่งได้ 8.15 คะแนน คือ การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับอันดับแรกที่ประชาชนพอใจผลงานรัฐบาลน้อยที่สุด ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คะแนนพอใจเฉลี่ย 5.10

โดยคะแนนรวมของพลงานรัฐบาลอยู่ที่ 6.35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีความหมายว่า ประชาชนพอใจต่อผลงานรัฐบาลค่อนข้างมาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น