วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปฏิรูปสังคมไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว









การปฏิรูปสังคมไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2411-2453


--------------------------------------------------------------------------------

ในช่วงสมัยการเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก ประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะปรับตัวเข้าสู่ความทันสมัยตามแบบตะวันตก เพื่อลดกระแสกดดันจากประเทศแถบตะวันตกที่มุ่งขยายอิทธิพลเข้าครอบงำประเทศไทยให้ลดน้อยลงจนถึงระดับปลอดภัย การปรับตัวที่สำคัญประการหนึ่งของไทย คือ การปฏิรูปสังคมและการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2411-2453) เพราะการปฏิรูปสังคมและการศึกษาได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475

สภาพการณ์ทั่วไปก่อนการปฏิรูปสังคมและการศึกษาในสมัยรัชกาลที่ 5
1.สภาพการณ์ทางด้านการเมือง
การเมืองภายในก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 มีสภาพอยู่ในระบบดั้งเดิม คือมีพระมหากษัตริย์ทรงปกครองราชอาณาจักรโดยอาศัยเสนาบดี ซึ่งมีหน้าที่บริราชการส่วนกลางรวมทั้งหมด 6 กรม คือ กลาโหม มหาดไทย เวียง วัง คลัง นา การปกครองหัวเมืองในส่วนภูมิภาค อยู่ภายใต้การควบคุมของเสนาบดี คือ สมุหพระกลาโหม ปกครองดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ สมุหนายกปกครองดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ โกษาธิบดี ปกครองดูแลหัวเมืองชายทะเลตะวันออก
สมัยรัชกาลที่ 4 (พ.ศ. 2394-2411) ทรงได้รับอิทธิพลทางด้านความคิดแบบเสรีตามอย่างตะวันตก คือ ทรงให้บรรดาขุนนางข้าราชการเลือกบุคคลที่เหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่งพระมหาราชครูปุโรหิตและพระมหาราชครูมหิธรซึ่งว่างลง โดยพระองค์จะทรงเข้าแรกแซงหรือยุ่งเกี่ยว แต่จะทรงเกี่ยวข้องก็เมื่อถึงเวลาที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ขุนนางข้าราชการเสนอรายชื่อมาเท่านั้น
ทางด้านการเมืองภายนอก ไทยกำลังถูกคุกคามจากมหาอำนาจตะวันตก ซึ่งเริ่มมีท่าที่เห็นได้ชัดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เมื่ออังกฤษรุกรานพม่า และเกิดกระทบกระทั่งกับไทยเกี่ยวกับปัญหาเมืองไทรบุรีในมลายู นอกจากนั้นไทยได้มีการทำสนธิสัญญาเบอร์นีกับอังกฤษใน พ.ศ. 2369 และเมื่ออังกฤษได้ส่งเซอร์ เจมส์ บรู้ค (Sir James Brooke) เข้ามาเจรจาของแก้ไขสนธิสัญญากับไทยใน พ.ศ. 2393 แต่ไทยก็ได้ปฏิเสธที่จะแก้ไข จึงทำให้เกิดความวิกฤตในหมู่ผู้นำไทยบางกลุ่มที่เกรงว่าอังกฤษอาจะเปลี่ยนนโยบายจากการเจรจาด้วนสันติวิธีมาเป็นการเจรจาโดยใช้นโยบายอื่นบังคับไทยต่อไปในอนาคต ถ้ามีการเจรจาเกิดขึ้น
สมัยรัชกาลที่ 4 ไทยได้ทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษใน พ.ศ.2398 เป็นผลทำให้ไทยต้องยกเลิกระบบการแบบผูกขาดโดยพระคลังสินค้า และเปลี่ยนมาเป็นนโยบายการค้าแบบเสรี โดยยอมสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตให้อังกฤษ รวมทั้งการเก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยละ 3 และอื่นๆ อีกหลายประการ นอกจากนั้นไทยยังต้องตกลงทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันที่ทำกับอังกฤษกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ เพิ่มลดกระแสกดดันทางการเมืองและการทหารจากมหาอำนาจตะวันตก
นอกจากนี้ไทยยังไม่สามารถหลีกเลี่ยงการบีบคั้นจากมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างสิ้นเชิง เช่น การยอมยกดินแดนเขมรส่วนในและเกาะต่างๆ อีก 6 เกาะ รวมเป็นเนื้อที่ 124,000 ตารางกิโลเมตรให้แก่ฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสยอมรับว่าไทยมีสิทธิเหนือเสียมราฐและพระตะบองเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2410

2.สภาพการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ
ก่อนที่ไทยจะทำสนธิสัญญาบาวริงใน พ.ศ. 2398 ระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดทางด้านการค้าโดยพระคลังสินค้า การผลิตที่สำคัญเป็นการผลิตทางด้านการเกษตร ธุรกิจการค้าของเอกชนเป็นกาค้าขนาดเล็กที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันภายในราชอาณาจักร ส่วนการค้าขายกับต่างประเทศอยู่ในความควบคุมของพระลังสินค้า ที่ผูกขาดการซื้อขายสินค้าที่มีค่าหลายประเภทภายหลังเมื่อรัชกาลที่ 4 ได้ทรงทำสนธิสัญญาบาวริงกับอังกฤษแล้ว ระบบเศรษฐกิจการค้าของไทยได้เปลี่ยนแปลงเป็นระบบการค้าแบบเสรี ซึ่งทำให้ไทยได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างกว้างขวาง จะเห็นได้จากภายใน 19 เดือน นับแต่ลงนามในสนธิสัญญาบาวริง ได้มีเรือสินค้าเข้ามาในกรุงเทพฯถึง 130 ลำ และพ่อค้าในกรุงเทพฯ ก็ส่งเรือออกไปค้าขายต่างประเทศถึง 37 ลำ ซึ่งเรือที่เข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 10 เท่า หมอบรัดเลย์ได้บันทึกไว้ว่าเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2399 มีเรือต่างประเทศมาทอดสมออยู่ในแม่น้ำถึง 60 ลำ และได้เพิ่มจำนวนเป็น 103 ลำในปลายปีเดียวกัน ส่วนพ่อค้าในกรุงเทพฯได้ส่งเรือออกไปค้าขายถึง 37 ลำ แสดงให้เห็นถึงข้อมูลที่ยืนยันถึงการขยายตัวทางการค้าอย่างแท้จริงผลของการทำสนธิสัญญาบาวริง ระบบการค้าเสรีได้ทำให้เศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเองน้อยลง สินค้าเข้าแต่เดิมประกอบด้วยสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นไปเพื่อการบริโภคของชนชั้นสูง เปลี่ยนมาเป็นสินค้าหลายชนิดเพื่อการบริโภคของคนทั่วไป ส่วนสินค้าออกของไทยสมัยก่อนจะเป็นสินค้าหลายๆชนิด ก็เปลี่ยนมาเป็นสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด นอกจากนั้นการส่งข้าวออกไปขายยังต่างประเทศขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางตั้งแต่ พ.ศ.2398 เป็นต้นมา และไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบใดที่จะเกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากมายเท่ากับการทำนา ชาวนาได้ขยายการผลิตข้าวเพิ่มมากขึ้น ทำให้การปลูกพืชที่จำเป็นในการครองชีพอื่นๆน้อยลง
การขยายตัวในการผลิตข้าวเพื่อการส่งออก ทำให้ชาวนาต้องขยายที่นาออกไปและความจำเป็นในการใช้แรงงานก็มีมากขึ้น แต่ในขณะที่แรงงานคนไทยยังไม่มีความเป็นอิสระเพราะยังติดอยู่กับระบบไพร่และทาส รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นความจำเป็นในการผลิตข้าวเพื่อการส่งออก จึงทรงสนับสนุนด้วยการลดหย่อนการเกณฑ์แรงงานตามระบบไพร่ลง เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้เวลาในการทำนามากขึ้น ส่วนงานก่อสร้างของหลวงที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมากก็โปรดให้จ้างคนจีนมาทำแทน สำหรับคนไทยก็อาจจะใช้วิธีจ่ายเงินแทนการเกณฑ์แรงงานได้ ดังนั้นความจำเป็นในการใช้แรงงานเสรีภายหลังสนธิสัญญาบาวริงนี้ จึงมีส่วนผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบไพร่ในสมัยต่อมา

3.สภาพการณ์ทางด้านสังคม
สังคมไทยก่อนการปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย
1.พระมหากษัตริย์ ทรงมีฐานะประดุจดังเทวราชา ธรรมราชา และพุทธราชา ผสมผสานกันไป ดังนี้
1) เทวราชา คิตีนี้ถือกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงดำรงฐานเป็นสมมติเทพตามคติของศาสนาพราหมณ์ที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และถือว่าพระองค์เป็นประดุจดังพระนารายณ์หรือพระอิศวรผู้ทรงไว้ซึ่งมหิทธานุภาพ ซึ่งราษฎรจะต้องให้ความเคารพบูชา ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจสูงสุดในแผ่นดิน และยังคงมีการสืบทอดขนธรรมเนียมประเพณีเกี่ยวกับองค์พระมหากษัตริย์ที่สะท้อนให้เห็นถึงคติของลัทธิเทวราชาที่ยังคงยึดถือปฏิบัติตามอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยามาโดยตลอด เช่น การสร้างพระราชวัง การสร้างพระที่นั่ง การประกอบพระราชาพิธีต่างๆ การใช้คำราชาศัพท์ เป็นต้น
2) ธรรมราชา คตินี้ถือกันว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นธรรมราชา โดยได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพุทธ ซึ่งพระพุทธองค์ได้บัญญัติธรรมสำหรับกษัตริย์ผู้ปกครองแคว้นต่างๆ เอาไว้เรียกว่า ทศพิธราชธรรม และจักรวรรดิวัตร ซึ่งถ้ากษัตริย์พระองค์ใดทรงประพฤติปฏิบัติธรรมดังกล่าวได้ครบถ้วนแล้ว อาณาประชาราษฎร์ก็จะดำรงอยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
3) พุทธราชา คตินี้สืบทอดมาจากความเป็นธรรมราชาของพระมหากษัตริย์ ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดทรงประพฤติปฏิบัติทศพิธรราธรรมและจักรวรรดิวัตรอย่างเคร่งครัดก็เปรียบเสมือนพระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีในฐานะพระโพธิสัตว์ เพื่อจะได้ไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภพต่อๆไป ดังนั้นพระมหากษัตริย์จึงทรงมีฐานะประดุจดังพุทธราชา
คตินิยมเช่นนี้ เห็นได้จากพระนามของรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีคำว่า พุทธ นำหน้าพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวายพระนามรัชกาลที่ 1 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และถวายพระนามรัชกาลที่ 2 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นการกล่าวย้ำให้เห็นความเป็นพุทธราชาของพระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์
2. พระบรมวงศานุวงศ์
พระบรมวงศานุวงศ์ล้วนแต่เป็นพระญาติวงศ์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งตำแหน่งของพระบรมวงศานุวงศ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สกุลยศและอิสริยยศ สกุลยศ คือ สิ่งที่แสดงถึงความเป็นผู้สืบสายเลือดของความเป็นเจ้า ได้แก่ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า และหม่อมเจ้า ส่วนอิสริยยศ คือ พระยศที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้น เช่น มหาอุปราช กรมหมื่น กรมขุน กรมหลวง กรมพระ กรมสมเด็จพระ เป็นต้น
3. ขุนนาง
บุคคลที่รับราชาการแผ่นดิน มีศักดินา ยศ ราชทินนามและตำแหน่งเป็นเครื่องชี้บอกถึงอำนาจและเกียรติยศ หรือบรรดาข้าราชการของแผ่นดิน แต่ข้าราชการบางคนอาจจะไม่ได้มีฐานเป็นขุนนางก็ได้ เพราะการเป็นขุนนางนั้นจะต้องอยู่กับศักดินาของตน กล่าวคือผู้ที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไปก็จะได้เป็นขุนนาง ยกเว้นพวกมหาดเล็ก เพราะว่าเป็นขุนนางอยู่แล้ว ส่วนข้าราชการแผ่นดินที่มีศักดินาต่ำ 400 ไร่ยังมิได้เรียกว่าเป็นขุนนาง แต่จะอนุโลมเรียกว่าข้าราชการ ยศของขุนนางมี 8 ลำดับ จากสูงสุดไปหาต่ำสุด มีดังนี้ สมเด็จเจ้าพระยา เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมิ่น และพัน ศักดินาของสมเด็จเจ้าพระจะอยู่ในระดับ 30,000 ไร่ นับว่าสูงสุดในบรรดาขุนนางทั้งหลาย ส่วนพันถือศักดินา 100-400 ไร่ หมื่นถือศักดินา 200-800 ไร่ ขุนนางถือศักดินา 200-1,000 ไร่ สำหรับขุนนางที่มียศเป็นหลวงขึ้นไปมีศักดินาได้ไม่ต่ำกว่า 800 ไร่ขึ้นไป แสดงว่าผู้ที่เป็นพัน หมื่น ขุน อาจไม่ได้เป็นขุนนางถ้าศักดินาไม่ถึง 400 ไร่ ดังนั้นสิทธิ์เป็นขุนนางได้ต้องมีศักดินาถึง 400 ไร่ขึ้นไป
สิทธิ์ตามกฎหมายของขุนนาง มีดังนี้
1.ได้รับการยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงาน และต่อเนื่องไปถึงบุตรของขุนนางด้วย
2.ข้าราชการที่มียศต่ำกว่าขุนนาง คือ มีศักดินาไม่ถึง 400 ไร่ จะได้รับเอกสารยกเว้นการสักเป็นรายบุคคล แต่เอกสารนี้ไม่ได้รวมไปถึงลูกของข้าราชการ และการได้มาถึงเอกสารดังกล่าวจะต้องจ่ายเงินให้กับนายของตนเป็นการตอบแทนด้วย
3.ผู้ที่มีศักดินา 400 ไร่ขึ้นไป จะได้รับสิทธิเข้าเฝ้าในการเสด็จออกขุนนาง และถ้ามีคดีขึ้นศาลได้รับอนุญาตให้ผู้อื่นขึ้นศาลแทนตนได้อีกด้วย
4.ก่อน พ.ศ.2367 ขุนนางได้รับการยกเว้นภาษีที่นา ส่วนกฎหมายลักษณะมรดกให้สิทธิ์แก่คนที่ถือศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไปในการแบ่งมรดกเมื่อคนผู้นั้นถึงแก่กรรมแล้ว
5.ได้รับการคุ้มครองในเรื่องเกียรติยศ กล่าวคือผู้ใดใช้ถ้อยคำหยาบคายกับผู้ถือศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไปจะถูกลงโทษอย่างหนัก
6.ขุนนางสามารถมีไพร่จำนวนหนึ่งเป็นเสมียนทนายของตนได้ตามยศของตน และตามกฎหมายแล้วขุนนางจะไปไหนมาไหนโดยไม่มีคนรับใช้ไม่ได้
4. ไพร่
คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นราษฎรสามัญชนหรือไพร่นั้น คือ ชายฉกรรจ์ที่ต้องสังกัดอยู่กับเจ้าขุนมูลนายที่ตนสมัครอยู่ด้วย แบ่งตามสังกัดออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) ไพร่สม หมายถึง ไพร่ที่เป็นชายฉกรรจ์ที่มีอายุ 18 ปี จะต้องขึ้นทะเบียนสังกัดมูลนาย( เจ้านายหรือขุนนาง) ตามกฎหมายกำหนด เพื่อรับใช้มูลนายเป็นการส่วนตัว เพื่อว่ามูลนายจะได้รู้สึกเป็นเกียรติ และเป็นกำลังให้มูลนายที่รับใช้งานของพระมหากษัตริย์ให้ดำเนินไปด้วยดีไม่มีอุปสรรค ไพร่สมจึงสมบัติของนายมูลนายและต้องรับใช้มูลนายยังมีชีวิตอยู่ในตำแหน่งราชาการ เนื่องจากสมัยก่อนขุนนางข้าราชการยังไม่มีเงินเดือน ดังนั้นการควบคุมไพร่ของมูลนายจึงหมายถึงผลประโยชน์ เช่น การได้รับส่วนลดจากการเก็บเงินค่าราชการหรือได้รับของกำนัลจากไพร่ แต่เมื่อนายมูลถึงแก่กรรมไพร่สมจะถูกโอนเป็นไพร่หลวง
2) ไพร่หลวง ไพร่สมที่มีอายุ 20 ปี มีหน้าที่รับราชการอยู่ในกรมกองต่าง ๆ มีขุนนางเป็นผู้ดูแลควบคุม ในยามศึกสงครามต้องออกรบป้องกันบ้านเมือง ในยามบ้านเมืองปกติต้องทำงานให้แก่แผ่นดินปีละ 6 เดือน และออกไปประกอบอาชีพ 6 เดือน สลับเดือนไปจนครบ 6 เดือน เรียกว่า การเข้าเดือนออกเดือน หรือการเข้าเวรรับราชการ คือ เข้าเวร 1 เดือน ออกเวร 1 เดือนสลับกันไป จนครบ 6 เดือน ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น(รัชกาลที่ 1) ไพร่หลวงถูกเกณฑ์แรงงานปีละ 4 เดือน คือ เข้าเวร 1 เดือน ออกเวร 2 เดือน สลับกันไป หากบ้านเมืองว่างเว้นจากสงครามเป็นเวลานานจะมีการผ่อนผันให้ไพร่หลวงส่งสิ่งของ ซึ่งเป็นทรัพย์กรในท้องถิ่น หรือ เงิน (เดือนละ 2 บาท หรือปีละ 12 บาท แทนการเข้าเวรรับราชการ ไพร่หลวงที่ส่งสิ่งของหรือเงิน แทนการเข้าเวรรับราชการนี้ เรียกว่า ไพร่ส่วย ฐานะโดยทั่วไปของไพร่นั้นอาจมีอิสระในด้านแรงงานของตนเองอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะไพร่หลวงนั้นปีหนึ่งจะต้องถูกเกณฑ์แรงงานไปทำงานให้กับทางราชการ 4 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง ส่วนในเรื่องการฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาล ไพร่ไม่มีสิทธิ์ตั้งทนายของตนเอง อีกทั้งไพร่จุถูกจำกัดสิทธิ์ในการเคลื่อนย้ายที่อยู่เพื่อความสะดวกในการเกณฑ์แรงงาน นอกจากนี้ถ้าไพร่เรียกชื่อยศตำแหน่งขุนนางผิดไปจากความเป็นจริงจะต้องถูกปรับโทษ ส่วนในเรืองการปรับไหม ไพร่ก็เสียเปรียบขุนนาง เพราะเมื่อเวลาขุนนางทำผิดต่อไพร่ก็จะใช้ศักดินาขุนนางปรับขุนนาง แต่เมื่อไพร่ทำผิดต่อขุนนาง กลับไม่ใช้ศักดินาไพร่ปรับไพร่ แต่ใช้ศักดินาของขุนนางปรับไพร่ อย่างไรก็ตาม ไพร่ก็ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายถ้าตนเองมีมูลนายต้นสังกัดหรือไพร่ที่มีศักดินาระหว่าง 10-25 ไร่ แล้วแต่ลักษณะและประเภทของไพร่ นอกจากนี้ไพร่สามารถมอบที่ดินให้แก่บุตรหลานของตนเองได้ ถ้าใครบุกรุกจะถูกปรับ แต่ถ้าบุตรหลานปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นเวลา 9-10 ปี ไม่ทำให้ผลผลิตงอกเงย ที่ดินผืนนั้นต้องยกให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป นอกจากนี้ไพร่ยังสามารถเปลี่ยนฐานะตนเองได้เป็น 2 ระดับ คือ ถ้าเลื่อนระดับก็เป็นขุนนาง ถ้าลดระดับก็เป็นทาส
3.5 ทาส
ทาส คือ ราษฎรสามัญชนอีกประเภทหนึ่ง ที่มิได้มีกรรมสิทธิ์ในแรงงานและชีวิตของตนเอง แต่จะตกเป็นของนายจนกว่าจะได้รับการไถ่ตัวพ้นจากความเป็นทาส ซึ่งนายมีสิทธิ์ในการซื้อขายทาสได้ ลงโทษทุบตีทาสได้ แต่จะให้ถึงตายไม่ได้ ทาสมีศักดินาเพียง 5 ไร่เท่านั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนจะมีการประกาศเลิกทาสในสมัยรัชกาลที่ 5 แบ่งออกเป็น 7 ประเภท คือ
1) ทาสสินไถ่ คือ ทาสที่ขายตนเองให้เป็นท่าน ต้องหาเงินมาไถ่ถอนตนเองจึงเป็นอิสระได้
2) ทาสในเรือนเบี้ย คือ ลูกทาสที่เกิดมาในเวลาที่พ่อแม่ของตนเป็นทาส
3) ทาสได้มาจากบิดามารดา คือ ทาสที่ได้มาจากบิดามารดให้ยกให้เป็นทาส
4) ทาสท่านให้ คือ ทาสที่ได้มาจากบุคคลฝ่ายหนึ่ง โดยให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง
5) ทาสทุพภิกภัย คือ ทาสที่ขายตนเองให้เป็นทาสในยามข้างยากหมากแพง
6) ทาสที่ได้จากการช่วยเหลือให้คนพ้นโทษทัณฑ์
7) ทาสเชลย คือ ทาสที่ได้มาจากศึกสงคราม
สิทธิโดยทั่วไปของเจาของทาสนั้นมีสิทธิ์ที่จะลงโทษทัณฑ์ จำโซ่ตรวน ขื่อคา หวดด้วยหนัง หรือสามารถทำทารุณกรรมต่างๆ กับทาสของตนเองได้ถึงบาดเจ็บสาหัส หรือแม้แต่ตาบอกก็ทำได้ แต่อย่าให้ถึงตายเท่านั้น รวมทั้งนายมีอำนาจสั่งทาสของตนให้ไปรับโทษคดีใดๆแทนบุตรภรรยาและญาติพี่น้องของนายเงินได้ นอกจากนี้นายยังมีอำนาจที่จะสั่งให้ทาสไปราชการแทนได้เช่นกัน แม้ราชการนั้นจะเป็นเหตุให้ทาสต้องตายก็ตาม ถ้านายทาสสั่งให้ทาสดูแลรักษาสิ่งของใดๆ ถ้าหากทรัพย์สินสิ่งของนั้นแตกหักเสียหาย ทาสก็ต้องใช้ราคาแก่นายทาสจนเต็ม นอกจากนั้นนายทาสมีสิทธิ์ที่จะขับทาสออกไปจากบ้านได้หรือสามารถขายทาสได้ เมื่อตนไม่สามารถเลี้ยงดูทาสนั้นต่อไปได้ หรือถ้าหากทาสหลบหนีไปแห่งใด เมื่อเจ้าเบี้ยนายเงินได้จ่ายเงินเป็นค่าบำเหน็จรางวัลแก่ผู้คุมตัวทาสมาได้เท่าได้ เจ้าของทาสมีสิทธิ์คิดเงินจากทาสที่หลบหนี้ได้ทั้งหมด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า อำนาจของนายมที่มีเหนือทาสนั้นมากพอที่จะผลทำให้ทาสหมดอิสรภาพในตนเอง ตราบใดที่ยังไม่หลุดพ้นจากความเป็นทาส ตราบนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะมีกรรมสิทธิ์ในแรงงานของตนเองได้ แต่โอกาสที่ทาสจะได้รับการปลดปล่อยให้หลุดพ้นจากความเป็นทาสก็ต่อเมื่อกรณีต่อไปนี้
1.หาเงินมาไถ่ถอนตัวเอง
2.นายทาสอนุญาตบวชเป็นพระภิกษุ
3.เมื่อเกิดศึกสงครามรับอาสาไปรบ และรอดกลับมา หรือถูกจับเป็นเชลย แต่หนีรอดกลับมาได้ ถือว่าทาสผู้นั้นเป็นอิสระ
4.ได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับนายทาส และลูกที่เกิดมาก็พ้นจากความเป็นทาสด้วย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นทาสมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งในตอนปลายรัชกาลที่ 3 คาดว่าผู้ที่เป็นทาสมีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้คนที่ตกเป็นทาสก็เพราะมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก ทั้งพวกชาวนาส่วนใหญ่ที่ต้องเป็นหนี้สินก็เนื่องมาจากการเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ผล แต่ก็มีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยอมขายตัวเพื่อจะได้ไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปทำงาน นอกจากนี้ในปลายรัชกาลที่ 3 ยังมีทาสอีกพวกหนึ่ง คือ ทาสเชลย ซึ่งมีอยู่ถึง 46,000 คน
ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงอนุญาตให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน และโปรดให้จ้างกรรมกรซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนทำงานก่อนสร้างที่ต้องใช้เวลาและแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้นการเกณฑ์แรงงานไพร่ก็ยังคงมีอยู่ต่อไปมิได้ถูกยกเลิกไป เพราะทรงเกรงว่า ถ้าเปลี่ยนสถานะของไพร่ให้มีกรรมสิทธิ์ในแรงงานจะทำให้ขุนนางไม่พอใจ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2410 ทรงประกาศห้ามบิดามารดาหรือสามีขายบุตรภรรยาลงเป็นทาสโดยเจ้าตัวไม่สมัครใจ โดยทรงพิจารณาว่าไม่เป็นการยุติธรรมสำหรับเด็กและสตรี นอกจากนี้ยังทรงประกาศให้เสรีภาพแก่สตรีที่มีอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว มีสิทธิ์เลือกสามีได้โดยบิดาจะบังคับมิได้อีกด้วย นับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการปลดปล่อยให้สตรีมีความเป็นอิสระแก่ตนเองมากยิ่งขึ้น

4.การปฏิรูปสังคมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
1.การยกเลิกระบบไพร่
1.1 สาเหตุในการยกเลิกระบบไพร่ ซึ่งเป็นระบบที่มีในสังคมไทยเป็นเวลาช้านาน เพราะอิทธิพลจากโลกตะวันตก ที่ให้ประชาชนมีอิสระในแรงงานของตนหรือที่เรียกว่า เสรีชนความต้องการด้านกำลังคน สำหรับรองรับการปฏิรูประบบราชการสมัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตความต้องการแรงงานเสรีสำหรับระบบธุรกิจการค้าแบบเสรี ซึ่งขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางภายหลังสนธิสัญญาบาวริงเป็นต้นมาความจำเป็นที่จะต้องแปลงไพร่ให้กลายเป็นทหารประจำการติดอาวุธสมัยใหม่ตามนโยบายปฏิรูปกิจการทหารของประเทศความจำเป็นในการลดกระแสกดดันจากลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก
1.2 ขั้นตอนในการยกเลิกระบบไพร่
รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2413 ภายหลังที่ครองราชสมบัติได้เพียง 2 ปี โดยทรงตั้งกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ใน พ.ศ.2413 และทรงคัดเลือกเอาบรรดาราชวงศ์และบุตรหลานขุนนางที่ได้ถวายตัว ทั้งผู้ใหญ่และเด็กเป็นจำนวนมากกว่าพันคน โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง)เป็นผู้บังคับการคนแรก ครั้นถึง พ.ศ.2423 ทรงโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม) จัดตั้งกรมทหารหน้า ต่อมาได้พัฒนามาเป็นกรมยุทธนาธิการและกระทรวงกลาโหมตามลำดับ โดยการรับสมัครบรรดาพวกไพร่ที่นายของตนตายหรือสิ้นพระชนม์มารับราชการเป็นทหารสมัครเป็นจำนวนมาก โดยมีการพระราชทานเงินให้คนละ 4 บาท ผ้า 1 สำรับ เพื่อเป็นสินน้ำใจแก่ทหารสมัครทุกคน บรรดาไพร่ที่มาสมัคร ล้วนแต่เป็นไพร่ที่มิได้รับการสักเลกที่ข้อมือเพื่อแสดงสังกัดทั้งสิ้น แสดงให้เห็นถึงการที่บรรดามูลนายเบียดบังไพร่ไว้ใช้ส่วนตัวกันมาก จากการรับสมัครในกรุงเทพฯก็ขยายออกไปยังหัวเมืองชั้นนอก ซึ่งมีคนมาสมัครกันเป็นจำนวนมากขึ้น ทางราชการจึงตอบแทนด้วยการแจกเครื่องแบบสักหลาดสีดำ 1 ชุด เงินเดือนๆละ 10 บาท รวมทั้งอาหาร 2 เวลาด้วย
ต่อมาใน พ.ศ.2431 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติทหาร ซึ่งสิทธิหน้าที่ของพลทหาร ทั้งทหารบกและทหารเรือ กล่าวคือ พลทหารสมัครจะต้องรับราชการไปจนครบ 10 ปี จึงจะครบเกษียณอายุ แต่ถ้ายังสมัครรับราชการต่อไปทางราชการก็จะเพิ่มเบี้ยหวัดให้จากเงินเดือนตามอัตราเดิมคือเดือนละ 2 บาท ส่วนเบี้ยหวัดจ่ายปีละครั้งเรียกว่า เงินปี ส่วนในราชการพิเศษถ้ามีความดีความชอบก็จะได้รับรางวัลเป็นครั้งคราว ไม่มีกำหนด เรียกว่า เงินรางวัล
พ.ศ.2434 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดการกรมยุทธนาธิการ โดยยกกรมยุทธนาธิการเดิมขึ้นเป็นกระทรวงยุทธนาธิการ มีหน้าที่บังคับบัญชาผู้คนที่เกี่ยวกับการทหารบก ทหารเรือ ตามแบบแผนใหม่ ขณะเดียวกันตามระเบียบเดิมก็เร่งรัดให้กรมพระสุรัสวดีนำตัวไพร่ที่หลบหนีการสักเลกมาสักเลกเป็นไพร่หลวง และเร่งรัดเก็บเงินค่าราชการจากไพร่ที่ไม่ประสงค์จะถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานให้กับทางราชการ
พ.ศ.2439 ได้มีการประกาศยกรมพระสุรัสวดีเข้ามาสังกัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2435 และใน พ.ศ.2439 ได้ประกาศให้บรรดาไพร่หลวงที่ไม่มาเข้าเดือนประจำการ ต้องเสียเงินแทนค่าแรงงานปีละ 18 ปี ส่วนไพร่ส่วยถ้าไม่ได้ส่งของต้องส่งเงินแทนตั้งแต่ 6-12 บาท ตามชนิดของสิ่งของที่ต้องเกณฑ์ส่ง และตั้งแต่ พ.ศ.2440 เป็นต้นไป บรรดาไพร่หลวงที่ต้องเสียเงินค่าราชการปีละเกิน 6 บาทขึ้นไป ให้เก็บเงินค่าราชการเพียงปีละ 6 บาทเท่านั้น
พ.ศ.2448 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหารรัตนโกสินทร์ศก 124 โดยกำหนดให้ชายฉกรรจ์ที่มีอายุ 18 ปี รับราชการในกองประจำการมีกำหนด 2 ปี แล้วปลดไปเป็นกองหนุน ส่วนผู้ที่ได้รับราชการทหารในกองประจำการแล้ว ทรงโปรดเกล้าฯให้ผู้นั้นพ้นจากการเสียเงินค่าราชการใดๆจนตลอดชีวิต ทุกคนที่เป็นชายยกเว้นคนจีนและคนป่าดอยเท่านั้น จะต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัตินี้ทั้งสิ้น ดังนั้นพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหารรัตนโกสินทร์ศก 124 ฉบับนี้จึงถือได้ว่าเป็นการยกเลิกระบบไพร่ที่มานานในสังคมไทย
1.3 ผลของการยกเลิกระบบไพร่ ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมดังต่อไปนี้คือ
1)ผลกระทบทางตรง คือ ฐานอำนาจของขุนนางที่มีไพร่อยู่ในสังกัด ทั้งอำนาจการควบคุมกำลังคนก็ตกอยู่ในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง ขุนนางไม่สามารถจะแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงานของไพร่อีกต่อไป การมีกำลังคนอยู่ภายใต้การควบคุมของพระมหากษัตริย์โดยตรง จะทำให้พระมหากษัตริย์มีฐานอำนาจทางการเมืองที่มั่นคงยิ่งขึ้น
2)ผลกระทบทางอ้อม คือก่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านธุรกิจการลงทุนมากขึ้น เพราะการเลิกระบบไพร่ได้ทำให้เกิดแรงงานเสรี ซึ่งจะสามารถสนองความต้องการแรงงานเสรีของระบบทุนนิยม ซึ่งกำลังเริ่มต้นในสังคมไทยภายหลังสนธิสัญญาบาวริงใน พ.ศ.2398 เป็นต้นมา และแรงงานเสรีจะเป็นแรงงานที่มีคุณภาพเพราะจะได้รับค่าตอบแทนจากนายจ้าง

2. การเลิกทาส
2.1 สาเหตุในการเลิกทาส มีสาเหตุที่สำคัญดังต่อไปนี้
1) อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกที่มุ่งปลดปล่อยทาสให้เป็นเสรีชนได้แพร่ขยายเข้ามาในสังคมไทยภายหลังที่ไทยได้ติดต่อค้าขายกับประเทศตะวันตกอย่างกว้างขวาง ภายหลังการทำสนธิสัญญาบาวริง พ.ศ. 2398 เป็นต้นมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นแรงกระตุ้นให้รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะยกเลิกการมีทาสในสังคมไทย
2) อิทธิพลของลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่กำลงส่อเค้าว่าจะคุกคามไทย ถ้าสังคมไทยยังมีลักษณะป่าเถื่อนล้าหลัง และพลเมืองส่วนใหญ่ยังตกเป็นทาส โดยที่มหาอำนาจตะวันตกจะถือเป็นข้ออ้างเข้ามาช่วยสร้างความเจริญให้ด้วยการเข้ามายึดครอง ดังนั้น การปรับสังคมด้วยการเลิกทาสย่อมเป็นการลดกระแสกดดันของลัทธิจักรวรรดินิยมได้
3) ความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานเสรีเพิ่มมากขึ้น โดยระบบการค้าเสรีที่เกิดขึ้นภายหลังสนธิสัญญาบาวริง ทำให้ธุรกิจการค้าและการผลิตต่างๆ ขยายตัวออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าว ซึ่งการปลดปล่อยทาสให้มีอิสระในแรงงานของตนย่อมสนองตอบต่อความต้องการทางด้านแรงงานเสรีของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่กำลังขยายตัว
4) ความจำเป็นทางด้านการปกครองที่รัชกาลที่ 5 ทรงมีแผนการปฏิรูประบบบริหารราชการให้ทันสมัย ดังนั้นเมื่อทรงมีแผนการเช่นนี้แล้ว การปลดปล่อยทาสให้เป็นเสรีชนย่อมจะสอดคล้องกับความต้องการกำลังคนซึ่งมีอิสระในแรงงานของตนเป็นอย่างมาก เพื่อรองรับการขยายงานของระบบบริหารราชการสมัยใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
5) เกิดจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีพระราชประสงค์จะให้คนไทยมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันทุกคน จึงมีพระราชดำริจะยกเลิกการมีทาสในสังคมไทย
2.2 ขั้นตอนการเลิกทาส
การปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระแก่ตนเองนั้นจำเป็นจะต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะสังคมไทยมีทาสมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ การยกเลิกทาสโดยฉับพลันย่อมจะกระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของกลุ่มมูลนายที่มีทาสในครอบครอง ดังนั้นรัชกาลที่ 5 จึงทรงเตรียมแผนการในการเลิกทาสอย่างมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1) การออกประกาศให้ทำการสำรวจจำนวนทาสใน พ.ศ.2417 คือ ได้มีการประกาศให้ผู้ที่มีทาสในครอบครองได้ทำการสำรวจตรวจสอบจำนวนทาสในครอบครองของตนว่ามีอยู่เท่าไร รวมทั้งระยะเวลาที่ทาสจะต้องเป็นทาสจนกว่าจะพ้นค่าตัว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสะดวกในการวางแผนขั้นต่อไป โดยเฉพาะให้มีการสำรวจและจดทะเบียนทาสที่เกิดตั้งแต่ปีมะโรง พ.ศ.2411 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นมา ทั้งนี้เพื่อเตรียมการเอาไว้สำหรับการวางแผนเลิกทาสต่อไป
2) การประกาศใช้พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทย พ.ศ.2417 ซึ่งได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติดังนี้
(1) ถ้าทาสคนใดที่ถูกขายตัวเป็นทาสเกิดใน พ.ศ.2411 และในปีต่อๆ มาจนถึงอายุ 21 ปีให้พ้นค่าตัวเป็นไท ไม่ว่าทาสจะอยู่กับมูลนายเดิม หรือย้ายโอนไปอยู่กับนายมูลใหม่ ส่วนทาสที่เกิดก่อน พ.ศ.2411 ก็คงเป็นทาสต่อไปตามกฎหมายเดิม
(2) ถึงแม้ว่าบุคคลซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2411 เป็นต้นมานั้น จะได้รับการปลดปล่อยตามเงื่อนไขเวลาที่กล่าวมาแล้ว ต่อเมื่อถึง พ.ศ.2431 เป็นต้นไปก็ตาม แต่ก็สามารถได้รับการไถ่ถอนให้พ้นจากความเป็นทาสได้ในราคาพิเศษซึ่งถูกกว่าทาสที่เกิดก่อน พ.ศ.2411
(3) กำหนดว่าถ้าผู้ใดจะนำบุตรหลานของตนไปขายเป็นทาสซึ่งเกิดตั้งแต่ พ.ศ.2411 และมีอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาไปขายเป็นทาส จะต้องขายในอัตราซึ่งกำหนดไว้ในพิกัดกระเษียรอายุใหม่ในรัชกาลที่ 5
(4) ห้ามผู้ที่เกิดใน พ.ศ.2411 หรือบิดามารดาของตนเองขายตนเป็นทาส โดยที่ตนเองและบิดามารดากล่าวเท็จว่ามิได้เกิดใน พ.ศ.2411 จะต้องถูกลงโทษด้วย
(5) ห้ามมูลนายคิดค่าข้าว ค่าน้ำ กับเด็กชายหญิงที่ติดตามพ่อแม่ พี่น้อง ป้า น้า อา ของตนที่ขายตัวเป็นทาส จนกลายเป็นเจ้าหนี้ของเด็กและเอาเด็กเป็นทาสต่อไปด้วย
พระราชบัญญัติกระเษียรอายุลูกทาสลูกไทย พ.ศ.2417 นี้ มิได้ใช้บังคับในทุกมณฑล มีบางมณฑลมิได้บังคับใช้ คือ มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือหรือมณฑลพายัพ มณฑลตะวันออกหรือมณฑลบูรพา มณฑลไทยบุรี กลันตัน ตรังกานู ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าขณะนั้นมณฑลเหล่านี้ยังเป็นประเทศราชอยู่ จึงไม่นับรวมเข้ามาในพระราชอาณาเขตตามความหมายของพระราชบัญญัตินี้
3) การประกาศเลิกทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ (มณฑลพายัพ) พ.ศ.2443
พ.ศ.2443 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลักษณะทาสมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมุ่งหมายที่จะให้การเลิกทาสในมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือได้ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2443 เป็นต้นไป
4) การประกาศแผนการเลิกทาสในมณฑลบูรพาใน พ.ศ.2447
พ.ศ.2447 ได้มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติลดค่าตัวทาสในมณฑลบูรพา เพื่อเตรียมการเลิกทาสในมณฑลบูรพาอย่างเป็นขั้นตอน แต่ต่อมาใน พ.ศ.2449 ไทยก็เสียมณฑลบูรพาให้แก่ฝรั่งเศส
5) การประกาศใช้พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 ใน พ.ศ. 2448
พ.ศ.2448 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรกเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 ซึ่งถือว่าเป็นแผนการเลิกทาสขั้นสุดท้ายในรัชสมัยของพระองค์ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้มีการกำหนดหลักการและวิธีการในการปลดปล่อยที่สำคัญบางประการ คือ
(1) กำหนดให้บรรดาลูกทาสที่เกิดมาไม่ต้องตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยดังแต่ก่อนและห้ามคนที่เป็นไทแก่ตัวและทาสที่หลุดพ้นค่าตัวกลับไปเป็นทาสอีก
(2) ให้มีการลดค่าตัวทาสลงเดือนละ 4 บาท ซึ่งจะทำให้ทาสเป็นไทแก่ตัวเร็วขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ใช้ พระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทร์ศก 124 กับมณฑลพายัพอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าพระบรมราชโองการปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระแก่ตนเองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำเนินไปในลักษณะอย่างเป็นขั้นตอน โดยอาศัยเวลาเพื่อให้เกิดการปรับตัวพร้อมที่จะรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของบรรดาเจ้าของทาส อันจะทำให้การปลดปล่อยทาสดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในระยะต่อมา ทั้งนี้เป็นเพราะความสุขุมคัมภีรภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยแท้

2.3 ผลกระทบอันเกิดจากการเลิกทาส
1) ทำให้บรรดาเจ้าของทาสต้องสูญเสียประโยชน์อันเกิดจากแรงงานทาสที่เคยได้รับมาเป็นเวลานาน
2) ทำให้เกิดแรงงานเสรี ซึ่งช่วยให้การดำเนินธุรกิจการลงทุนมีความคล่องตัวมากขึ้น เพราะมีแรงงานเสรีซึ่งเกิดจากการปลดปล่อยทาสในตลาดแรงงานมากขึ้น อันจะส่งผลให้การลงทุนทางด้านธุรกิจการค้าและการอุตสาหกรรมขยายตัวออกไปมากขึ้น

--------------------------------------------------------------------------------

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน


การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ระบบการบริหารราชการแผ่นดิน
ประเทศทุกประเทศจะต้องจัดการเรื่องระเบียบการปกครอง การบริหารงานระหว่างรัฐกับประชาชน เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความสะดวกให้แก่ประชาชน รัฐจึงออกกฎหมายการปกครองออกมาใช้บังคับประชาชน

ความหมายของกฎหมายการปกครองในที่นี้ หมายถึง กฎหมายที่วางระเบียบการบริหารภายในประเทศ โดยวิธีการแบ่งอำนาจการบริหารงานตั้งแต่สูงสุดลงมาจนถึงระดับต่ำสุด เป็นการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของราชการผู้ใช้อำนาจฝ่ายบริหาร

โดยหลักทั่วไปทางวิชาการกฎหมายการปกครอง ได้จัดระเบียบการปกครองประเทศหรือที่เรียกว่า จัดระเบียบราชการบริหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.การปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง (Centralization)
2.การปกครองแบบกระจายอำนาจปกครอง (Decentralization)



การปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง (Centralization) หมายถึง การจัดระเบียบการปกครอง โดยรวมอำนาจการปกครองทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลาง พนักงานเจ้าหน้าที่ในส่วนกลางและต่างจังหวัดไดรับการแต่งตั้งถอดถอนและบังคับบัญชาจากส่วนกลางเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่ส่วนกลางกำหนดขึ้น เช่น การปกครองที่แบ่งส่วนราชการออกเป็น กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด เป็นต้น

การปกครองแบบกระจายอำนาจปกครอง (Decentralization) หมายถึง การจัดระเบียบการ ปกครองโดยวิธีการยกฐานะท้องถิ่นหนึ่งขึ้นเป็นนิติบุคคลแล้วให้ท้องถิ่นนั้นดำเนินการปกครองตนเองอย่างอิสระโดยการบริหารส่วนกลางจะไม่เข้ามาบังคับบัญชาใด ๆ นอกจากคอยดูแลให้ท้องถิ่นนั้นดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายในขอบเขตของกฎหมายจัดตั้งท้องถิ่นเท่านั้น เช่น การปกครองของเทศบาลในจังหวัดต่าง ๆ เทศบาลกรุงเทพมหานคร หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นต้น

กฎหมายการปกครองที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศไทย ได้ใช้รูปแบบการปกครอง ทั้งประเภทที่กล่าวมาแล้ว คือ ใช้ทั้งแบบรวมอำนาจและกระจายอำนาจ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับการปฎิบัติงานของราชการ ให้มีสมรรถภาพ การกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆให้ชัดเจน เพื่อมิให้มีการปฎบัติงานที่ซ้ำซ้อนระหว่างส่วนราชการต่างๆและเพื่อให้การบริหารในระดับต่างๆมีเอกภาพสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดได้ดี

ดังนั้น รัฐบาลจึงออกกฎหมายการปกครองขึ้นมา คือ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และฉบับที่ 5 พ.ศ.2545และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พอสรุปดังนี้

ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน คือ กติกาที่ยอมรับเป็นบรรทัดฐาน เพื่อให้การบริหารราชการมุ่งไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ

กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ อันได้แก่ ขนบธรรม-เนียมการปกครอง รัฐธรรมนูญและความจำเป็นในการบริหารงานเพื่อแก้ไขสถานการณ์การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ
1.ระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
2.ระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
3.ระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น




การบริหารราชการส่วนกลาง
การบริหารราชการส่วนกลางหมายถึง หน่วยราชการจัดดำเนินการและบริหารโดยราชการของ ส่วนกลางที่มีอำนาจในการบริหารเพื่อสนองความต้องการของประชาชน จะมีลักษณะการปกครองแบบรวมอำนาจ หรือมีความหมายว่า เป็นการรวมอำนาจในการสั่งการ การกำหนดนโยบายการวางแผน การควบคุมตรวจสอบ และการบริหารราชการสำคัญ ๆ ไว้ที่นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตามหลักการรวมอำนาจ การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง จัดแบ่งออกได้ดังนี้

สำนักนายกรัฐมนตรี
กระทรวง หรือทบวงที่มีฐานะเทียบเท่า กระทรวง
ทบวง สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวง
กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง
การจัดตั้ง ยุบ ยกเลิก หน่วยงาน ตามข้อ 1- 4 ดังกล่าวนี้ จะออกกฎหมายเป็น พระราชบัญญัติและมีฐานะเป็นนิติบุคคล

ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้จัดแบ่ง กระทรวง และส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกระทรวง รวม 20 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธรณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม

สำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นกระทรวง อยู่ภายใต้การปกครองบังคับบัญชาของนากยรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นเครี่องของนากยรัฐมนตรีในเรื่องที่เป็นหัวใจของการบิหารราชการหรือเกี่ยวกับราชการทั่วไปของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี กิจการเกี่ยวกับการทำงบประมาณแผ่นดินและราชการอื่น ตามที่ได้มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือส่วนราชการอื่น ๆ ซึ่งมิได้อยู่ภายในอำนาจหน้าที่ของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งโดยเฉพาะ

สำนักนายกรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของสำนักนายกรัฐมนตรีให้สอดคล้องกันนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักนายกรัฐมนตรี และจะให้มีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหรือทั้งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติก็ได้

กระทรวง หมายถึง ส่วนราชการที่แบ่งออกเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ที่สุด รับผิดชอบงานที่กำหนดในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งทำหน้าที่จัดทำนโยบายและแผน กำกับ เร่งรัด และติดตามนโยบาย และแผนการปฏิบัติราชการกระทรวง จะจัดระเบียบบริหารราชการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีสำนักนโยบายและแผนเป็นส่วนราชการภายในขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง

กระทรวงหนึ่งๆมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและกำหนดนโยบายของกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนัมัติและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกระทรวง และจะให้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติราชการก็ได้ ให้มีปลัดกระทรวงมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมราชการประจะในกระทรวง เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการประจำในกระทรวงจากรับมนตรี โดยมีรองปลัดกระทรวงหรือผู้ช่วยปลัดกระทรวงเป็นผู้ช่วยสั่งการและปฏิบัติราชการแทน การจัดระเบียบราชการของกระทรวง ดังนี้

(1) สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดกระทรวง
(3) กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น เว้นแต่บางทบวงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกรมก็ได้
ทบวง เป็นหน่วยงานที่เล็กกว่ากระทรวง แต่ใหญ่กว่า กรม ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 25 ว่า ราชการส่วนใดซึ่งโดยสภาพและปริมาณของงานไม่เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นกระทรสงหรือทบวง ซึ่งเทียบเท่ากระทรวงจะจัดตั้งเป็นทบวงสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงเพื่อให้มีรัฐมนตรีว่าการทบวงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีรัฐมนตรีช่วยว่าการทบวงและมีปลัดทบวง ซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของทบวงก็ได้และมีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม การจัดระเบียบราชการในทบวง มีดังนี้

(1) สำนักเลขานุการรัฐมนตรี
(2) สำนักงานปลัดทบวง
(3) กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นให้ส่วนราชการตาม (2) (3) มีฐานะเป็น กรม





กรม หมายถึง เป็นส่วนราชการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงหรืออาจเป็นส่วนราชการอิสระไม่สังกัดกระทรวงหรือทบวงอยู่ใต้การบังคับบัญชา ของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการทรวงคนใดคนหนึ่งให้แบ่งส่วนราชการดังนี้

(1) สำนักงานเลขานุการกรม
(2) กองหรือส่วนราชการที่มีฐานะเทียบกอง เว้นแต่บางกรมเห็นว่าไม่มีความจำเป็นจะไม่แยกส่วนราชการตั้งขึ้นเป็นกองก็ได้
กรมใดมีความจำเป็น จะแบ่งส่วนราชการโดยให้มีส่วนราชการอื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ก็ได้ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา กรมมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการส่วนใดส่วนหนึ่งของกระทรวง หรือทบวงหรือทบวงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมหรือตามกฏหมายว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของกรมนั้น

กรมมีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของกรม ให้เป็นไปตามนโยบายแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง และในกรณีที่มีกฏหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ของอธิบดีไว้เป็นการเฉพาะ การอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายดังกล่าวให้คำนึงถึงนโยบายที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติและแนวทางและแผนการปฏิบัติราชการของกระทรวง

ปัจจุบันมีส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงหรือทบวง มี 9 ส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม คือ สำนักพระราชวัง สำนักราชเลขาธิการ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การปฏิบัติราชการแทน อำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติการปฏิบัติราชการ หรือการดำเนินการใดที่ผู้ดำดงตำแหน่งใดพึงปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้ ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนได้ดังตัวอย่าง

1. นายกรัฐมนตรีมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้รับมอบจะมอบต่อไปไม่ได้เว้นแต่ผู้ว่าราชการจัวหวัดจะมอบต่อในจังหวัด อำเภอก็ได้
การรักษาราชการแทน ผู้ที่ได้รับอำนาจจะมีอำนาจเต็มตามกฎหมายทุกประการ ตัวอย่าง

1.นายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการไม่ได้ให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงรักษาราชการแทน
2. ไม่มีปลัดกระทรวงหรือมี แต่มาปฏิบัติราชการไม่ได้ ให้รองปลัดฯ ข้าราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีรักษาราชการแทน
3. ไม่มีอธิบดีหรือมีแต่มาปฏิบัติราชการไม่ได้ ให้รองอธิบดี ผู้อำนวยการกองรักษาราชการแทน เป็นต้น



การบริหารราชการส่วนภูมิภาค
การบริหารราชการส่วนภูมิภาคหมายถึง หน่วยราชการของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ซึ่งได้แบ่งแยกออกไปดำเนินการจัดทำตามเขตการปกครอง โดยมีเจ้าหน้าที่ของทางราชการส่วนกลาง ซึ่งได้รับแต่งตั้งออกไปประจำตามเขตการปกครองต่าง ๆ ในส่วนภูมิภาคเพื่อบริหารราชการภายใต้การบังคับบัญชาของราชการส่วนกลางโดยมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเพราะถือเป็นเพียงการแบ่งอำนาจการปกครองออกมาจากการบริหารส่วนกลาง

การบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นการบริหารราชการตามหลักการแบ่งอำนาจโดยส่วนกลางแบ่งอำนาจในการบริหารราชการให้แก่ภูมิภาค อันได้แก่จังหวัด มีอำนาจในการดำเนินกิจการในท้องที่แทนการบริหารราชการส่วนกลาง

ลักษณะการแบ่งอำนาจให้แก่การบริหารราชการส่วนภูมิภาค หมายถึง การมอบอำนาจในการตัดสินใจ วินิจฉัย สั่งการให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไปประจำปฏิบัติงานในภูมิภาค เจ้าหน้าที่ในว่าในภูมิภาคให้อำนาจบังคับบัญชาของส่วนกลางโดยเฉพาะในเรื่องการแต่งตั้งถอดถอนและงบประมาณซึ่งเป็นผลให้ส่วนภูมิภาคอยู่ใการควบคุมตรวจสอบจากส่วนกลางและส่วนกลางอาจเรียกอำนาจกลับคืนเมื่อใดก็ได้

ดังนั้นในทางวิชาการเห็นว่าการปกครองราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจึงเป็นการปกครองแบบรวมอำนาจปกครอง


การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค จัดแบ่งออกได้ดังนี้

1. จังหวัด เป็นหน่วยราชการที่ปกครองส่วนภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุด มีฐานะเป็นนิติบุคคลประกอบขึ้นด้วยอำเภอหลายอำเภอหลาย อำเภอ การตั้ง ยุบและเปลี่ยนแปลงเขตจังหวัด ให้ตราเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ

ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับนโยบายและคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรี กระทรวง และกรม มาปฏิบัติการให้เหมาะสมกับท้องที่และประชาชนและเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่านบริหารส่วนภูมิภาคในเขตจังหวัดที่รับผิดชอบ อาจจะมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือ ผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัด มีคณะปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินในจังหวัดนั้นเรียกว่า คณะกรมการจังหวัดประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนึ่งคนตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมาย ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าที่ทำการอัยการจังหวัด รองผู้บังคับการตำรวจซึ่งทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดหรือผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัด แล้วแต่กรณีและหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดจากกระทรวงและทบวงต่าง ๆ เว้นแต่กระทรวงมหาดไทยซึ่งประจำอยู่ในจังหวัด กระทรวง และทบวงละหนึ่งคนเป็นกรมการจังหวัด และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นกรมการจังหวัดและเลขานุการ

ให้แบ่งส่วนราชการของจังหวัด ดังนี้

(1) สำนักงานจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปและการวางแผนพัฒนาจังหวัดของจังหวัดนั้นมีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานจังหวัด
(2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม ได้ตั้งขึ้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนั้นๆเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ




2. อำเภอ เป็นหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาครองจากจังหวัด แต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเหมือนจังหวัด การจัดตั้ง ยุบเลิกและเปลี่ยนแปลงเขตอำเภอ กระทำได้โดยตราเป็น พระราชกฤษฎีกา มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ และรับผิดชอบการบริหารราชการของอำเภอ นายอำเภอสังกัดกระทรวงมหาดไทย และให้มีปลัดอำเภอและหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอซึ่งกระทรวงต่าง ๆส่งมาประจำให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือ การแบ่งส่วนราชการของอำเภอ มีดังนี้

(1) สำนักงานอำเภอ มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการทั่วไปของอำเภอนั้น ๆ มีนายอำเภอเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการและรับผิดชอบ
(2) ส่วนต่าง ๆ ซึ่งกระทรวง ทบวง กรมได้ตั้งขึ้นในอำเภอนั้น มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการของกระทรวง ทบวงกรมนั้น ๆ มีหัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอนั้น ๆ เป็นผู้ปกครองบังคับบัญชารับผิดชอบ



การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นหมายถึง กิจกรรมบางอย่างซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ท้องถิ่นจัดทำกันเอง เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ โดยเฉพาะโดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งราษฎรในท้องถิ่นเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้ดำเนินงานโดยตรงและมีอิสระในการบริหารงาน

อาจกล่าวได้ว่าการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นการบริหารราชการตามหลักการกระจายอำนาจ กล่าวคือ เป็นการมอบอำนาจให้ประชาชนปกครองกันเอง เพื่อให้ประชาชนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และรู้จักการร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นการแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง และอาจยังประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในท้องที่ได้มากกว่า เพราะประชาชนในท้องถิ่นย่อมรู้ปัญหาและความต้องการได้ดีกว่าผู้อื่น

การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มีดังนี้

องค์การบริหารส่วนจังหวัด
เทศบาล
สุขาภิบาล
ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด ได้แก่ สภาตำบลองค์การบริหารตำบลกรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา



องค์การบริหารส่วนจังหวัด
เป็นการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในจังหวัดที่อยู่นอกเขตเทศบาลและสุขาภิบาล มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินกิจการส่วนจังหวัดแยกเป็นส่วนต่างหากจากการบริหารราชการส่วนภูมิภาคในรูปของจังหวัด ในจังหวัดหนึ่งจะมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง

องค์การบริหารส่วนจังหวัด ประกอบด้วย

สภาจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ดำเนินกิจการส่วนจังหวัด



เทศบาล
เป็นองค์การทางการเมืองที่ดำเนินกิจการอันเป็นผลประโยชน์ของประชาชนในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ การจัดตั้งเทศบาลทำได้โดยการออกพระราชกฤษฎีกายกท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นเทศบาลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แบ่งเทศบาลออกเป็น

1. เทศบาลตำบล เทศบาลประเภทนี้ไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การจัดตั้งไว้โดยเฉพาะ แต่อยู่ในดุลยพินิจของรัฐ

2. เทศบาลเมืองได้แก่ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ หนึ่งหมื่น คนขึ้นไป โดยมีความหนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร

3. เทศบาลนครได้แก่ท้องถิ่นที่มีประชาชนตั้งแต่ ห้าหมื่นคน ขึ้นไป และมีความหนาแน่นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3,000 คน ต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีเทศบาลนครเพียงแห่งเดียว คือ เทศบาลนครเชียงใหม่

องค์ประกอบของเทศบาล ประกอบด้วย

1. สภาเทศบาล ประกอบด้วยสมาชิกที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาเป็นผู้แทน ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของคณะเทศมนตรี

2. คณะเทศมนตรี ทำหน้าที่บริหารกิจการของเทศบาล มีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า การแต่งตั้งคณะเทศมนตรีกระทำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้แต่งตั้งสมาชิกสภาเทศบาลเป็นคณะเทศมนตรี ด้วยความเห็นชอบของสภาเทศบาล

3. พนักงานเทศบาล เป็นผู้ปฏิบัติงานของเทศบาล โดยมีปลัดเทศบาลเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในงานทั่วไปของเทศบาล

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คือ หน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่นโดยประชาชนมีอำนาจตัดสินใจในการบริหารงานของตำบลตามที่กฏหมายกำหนดไว้

อบต. ประกอบด้วย

1. สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกหมู่บ้านและแพทย์ประจำตำบล ราษฎรหมู่บ้านละ 2 คน
2. คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2 คนเลือกจากสมาชิกองค์การฯอีก 4 คน ประธานกรรมการบริหารและเลขานุการกรรมการบริหาร
อบต. มีหน้าที่ต้องทำในเขตอบต. ดังนี้

(1) ให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก
(2) รักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะรวมทั้งกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
(3) ป้องภัยโรคและระงับโรคติดต่อ
(4) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
(5) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
(6) ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ
(7) คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย



การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ


นอกเหนือจากหลักการโดยทั่วไปของการจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในรูปที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลได้จัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับความสำคัญทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชนเฉพาะแห่ง ปัจจุบันมีการจัดให้มีการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นรูปพิเศษ 2 แห่ง คือ

1.การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร
2.การบริหารราชการเมืองพัทยา



การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร

พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 กำหนดให้กรุงเทพมหานครประกอบด้วย

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สภากรุงเทพมหานคร
ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร มีผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร 1 คน และรองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ไม่เกิน 4 คน ทั้งผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร และรองผู้ว่าราชการ กทม. เป็นข้าราชการการเมือง และได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในกรุงเทพมหานคร

สภา กทม. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ควบคุมการบริหารราชการของผู้ว่าราชการ กทม. สภา กทม. ประกอบด้วยสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน โดยถือเกณฑ์จำนวนประชาชน 1 แสนคนต่อสมาชิก 1 คน

ปลัดกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด และตามคำสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรับผิดชอบดูแลราชการประจำของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามนโยบายของกรุงเทพมหานคร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของกรุงเทพมหานคร

การบริหารราชการเมืองพัทยา

จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521 เมืองพัทยามีฐานะเป็นนิติบุคคล ประกอบด้วย

สภาเมืองพัทยาประกอบด้วยสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน จำนวน 9 คน และสมาชิกจากการแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำนวน 8 คนสภาเมืองพัทยา จะเลือกสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นนายกเมืองพัทยา สภาเมืองพัทยาทำหน้าที่ด้านนโยบายและแผนการดำเนินงาน และควบคุมการปฏิบัติงานประจำของเมืองพัทยา

ปลัดเมืองพัทยามีหน้าที่บริหารกิจการเมืองพัทยาตามนโยบายของสภาเมืองพัทยา ปลัดเมืองพัทยามาจากการแต่งตั้งโดยสภาเมืองพัทยาตามที่นายกเมืองพัทยาเสนอผู้ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยาอย่างน้อย 2 คน แต่ไม่เกิน 3 คน




แบบทดสอบ http://quickr.me/XVqeG9C

ศาลยุติธรรมไทย



ศาลยุติธรรมของประเทศไทยประกอบด้วยศาลหลักคือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา


ศาลชั้นต้น


ศาลชั้นต้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไปทั้งทางแพ่งและอาญาอย่างน้อยจังหวัดละ 1 ศาล ในศาลชั้นต้นผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะ มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอ หรือมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัย หรือมีคำสั่งในคดีอาญา หรือพิจารณาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท หรือพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน หกหมื่นบาท แต่จะลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้ ส่วนในกรณีอื่นๆการพิจารณาคดีจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษา

ประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงจะเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรืออาญาทั้งปวง ศาลจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช มีศาลจังหวัด 3 ศาล คือ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดปากพนัง ศาลจังหวัดทุ่งสง ศาลแขวง เป็นศาลระดับล่าง มีผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจทำได้ตามที่กำหนดไว้ใน พระธรรมนูญศาลยุติธรรม กล่าวคือ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาความผิดเล็กๆน้อยๆทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา เช่นคดีเกี่ยวกับการพนัน โสเภณี หรือคดีอาญาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน สามแสนบาท หรือมีอำนาจออกหมายเรียก (ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งมาศาลเพื่อพิจารณาพิพากษาคดี)หมายอาญา ซึ่งเป็นหนังสือบงการให้เจ้าหน้าที่ทำ การตรวจค้น จับ ขัง จำคุก หรือปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือนักโทษ หรือ ตามหมายสั่งให้คนมาจากหรือไปยังจังหวัดอื่น หรืออกคำสั่งใดๆ ซึ่งมิใช่เป็นไปในทางวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี

ศาลอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ (ม.21) เป็นศาลชั้นกลางที่ตั้งขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้คู่ความที่ไม่พอใจในคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น ได้มีสิทธิที่จะขอให้ศาลลำดับที่สูงกว่าซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าได้ ทำการพิจารณาพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นการให้หลักประกันความยุติธรรมแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย “สามคน”จึงจะเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ คดีอุทธรณ์นี้อาจจะเป็น “คดีลหุโทษหรือคดีอุกฉกรรจ์ หรือคดีแพ่งโดยไม่จำกัดจำนวนทุนทรัพย์ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด”

ศาลฎีกา

ศาลฎีกา เป็นศาลชั้นสูงสุด ม.23 บัญญัติให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค และคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกา






ตามบัญญัติแห่งกหมายว่าด้วยการอุทธรณ์หรือฎีกา และคดีที่กฏมายอื่นบัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจ พิจารณาพิพากษา รวมทั้งมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดหรือสั่งคำร้องคำขอที่ยื่นต่อศาลฎีกาตามกฎหมาย คดีที่ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว คู่ความไม่มีสิทธิ์ที่จะทูลเกล้า ถวายฎีกาคัดค้านคดีนั้นต่อไป หมายเหตุ บางเรื่องกฏมายห้ามฎีกา เช่น
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 บัญญัติห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงถ้าในคดีนั้นมีราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกัน
ในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 บัญญัติ ห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงถ้าคดีนั้นศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
- ห้ามโจทย์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงถ้าในคดีนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ก็ตามเช่นเดียวกับมาตรา 219 ที่บัญญัติห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงถ้าในคดีนั้นศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ ทั้งนี้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการ ส่วนข้อกฏหมายนั้นคู่ความฎีกาได้เสมอ ศาลชำนัญพิเศษอื่น (ศาลเยาวชนและครอบครัว)วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชน รวมทั้งช่วยเหลือและคุ้มครองสถานภาพของการสมรส สามี ภรรยา และ บุตร แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

- ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ
- ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด มีอยู่ 8 จังหวัดคือ สงขลา-นครราชสีมา-เชียงใหม่-อุบลฯ-
ระยอง-สุราษฎร์ฯ-นครสวรรค์ และ ขอนแก่น
- จะต้องมีผู้พิพากษาไม่น้อยกว่า 2 คนและผู้พิพากษาสมทบอีก 2 คน ซึ่งอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี จึงจะเป็นองค์คณะพิจารณาคดีได้
- มีสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนคู่กันไปทุกศาล
- เด็กหมายถึง บุคลอายุเกิน 7 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปี
- เยาวชนหมายถึงบุคคลอายุ 14 ปีแต่ไม่เกิน 18 ปี

ศาลแรงงาน

ศาลแรงงาน มี 3 ประเภท คือ

1.ศาลแรงงานกลาง
2.ศาลแรงงานภาค
3.ศาลแรงงานจังหวัด
“ในกรณีที่คู่ความไม่พอใจคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานก็มีสิทธิอุทธรณ์เฉพาะในปัญหา ข้อกฏหมายไปยังศาลฎีกาได้”

ศาลภาษีอากร

ศาลภาษีอากร มี 2 ประเภท คือ ศาลภาษีอากรกลาง และศาลภาษีอากรจังหวัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ มี 2 ประเภทคือ

1.ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและ
2.การค้าระหว่างประเทศกลาง และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค
ศาลล้มละลาย

ศาลล้มละลาย
มี 2 ประเภท คือ ศาลล้มละลายกลางและศาลล้มละลายภาค ศาลปกครอง เป็นองค์กรอิสระ
ขึ้นตรงต่อประธานศาลปกครองสูงสุด
- พ.ศ.2535 นายชวน หลีกภัย ได้กำหนดนโยบายให้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น
- นายบรรหาร ศิลปะอาชา ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง
- พลเอก เชาวลิต ยงใจยุทธ ร่าง พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ออกมาบังคับใช้ได้เป็นผลสำเร็จ
- ศาลปกครอง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่มีข้อพิพาททางกฎหมายปกครองระหว่างเอกชนกับหน่วย
งานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือระหว่างเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกัน
- ศาลปกครองกำหนดโครงสร้างไว้เพียง 2 ชั้นคือ ศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด
ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรอิสระ ขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- เริ่มก่อตั้งภายหลังการปฏิวัติ พ.ศ.2475
- บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆมีข้อความขัดแย้งหรือขัดแก่รัฐธรรมนูญ ท่านว่าบทบัญญัตินั้นเป็น โมฆะ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ตั้งขึ้นเนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายตุลาการในคดีอาชญากรสงคราม
ช่วงที่นายทวี บุญยเกตุ เป็นรัฐบาล เพื่อเอาผิดกับบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่นำประเทศเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2


แบบทดสอบ http://quickr.me/6clg3Ub

รัฐบาลไทย(คณะรัฐมนตรี)


คณะรัฐมนตรีคณะที่ 59 (17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน) หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม คณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ 1 (ครม. อภิสิทธิ์ 1)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ โดยมีนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ และในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรด
กระหม่อม แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


รายชื่อคณะรัฐมนตรี

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นรองนายกรัฐมนตรีี
พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายวีระชัย วีระเมธีกุล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นายกรณ์ จาติกวานิชย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายกษิต ภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
นายชุมพล ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
นายอิสสระ สมชัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นายธีระ วงศ์สมุทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายศุภชัย โพธิ์สุ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายโสภณ ซารัมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุชาติ โชคชัยวัฒนากร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสุวิทย์ คุณกิตติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ร.ต.หญิงระนองรัตน์ สุวรรณฉวี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
นายวรรณรัตน์ ชาญนุกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นางพรทิวา นาคาสัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายอลงกรณ์ พลบุตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายชวรัตน์ ชาญวีรกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายถาวร เสนเนียม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายพีระพันธ์ สารีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
นายไพฑูรย์ แก้วทอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
นายธีระ สลักเพชร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


การถวายสัตย์ปฏิญาณ


เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 17.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในการนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่

"ข้าพเจ้ายินดีที่ได้ฟังรัฐมนตรี ที่จะเข้ารับหน้าที่ต่อไปนี้ได้ปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างดี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งท่านมีหน้าที่ที่สำคัญที่สุด เพราะว่าจะต้องทำให้ประเทศชาติมีความสุข ความเรียบร้อย ถ้าท่านทำงานเรียบร้อย ทำให้บ้านเมืองเรียบร้อย ก็เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบุญสำหรับประเทศ เพราะว่าประเทศต้องมีคนที่ดูแลความเป็นอยู่อย่างดี มิฉะนั้น ไม่สามารถที่จะปฏิบัติงานของประชาชนทั่วไปได้ดีนัก แต่ถ้าท่านได้ช่วยกันทำให้บ้านเมืองมีความสุข ความเรียบร้อย ก็ทำให้ประเทศชาติเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนคนไทยทุกคน ที่จะให้ประเทศชาติดำเนินไปโดยดี เพราะว่าถ้าไม่สามารถที่จะมีความเป็นไทยอยู่ได้ ก็ขอให้ท่านพยายามที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อที่จะให้คนไทยมีความเรียบร้อย มีความสุขเพราะว่าถ้าทำไม่ดีจะเป็นคนที่อยู่ในตำแหน่งสูง หรือ คนทั่วๆ ไป ทำไม่ดี คนหนึ่งคนใด ก็ทำให้ประเทศชาติล่มจมได้ และก็ท่านก็มีหน้าที่สำคัญเพราะท่านอยู่สูง มีหน้าที่สูง ก็จะต้องทำให้ประเทศชาติดำเนินไปโดยดี ก็ขอให้ท่านสามารถปฏิบัติงาน เพื่อความดีของประเทศ ความสงบสุขของประเทศ ซึ่งเป็นความจำเป็นที่สุด ถ้าท่านทำได้ท่านเองก็มีความสุข และประชาชนทั่วไปทุกพวก ทั้งหมู่ ทั้งเหล่า ทุกเหล่าได้มีความสุขทั้งนั้น คนไหนจะทำอะไรก็สามารถจะปฏิบัติงานได้ ถ้าท่านช่วยกันดูแลประเทศชาติให้มีความราบรื่น ท่านเองก็มีความสุขเหมือนกัน ฉะนั้นที่ท่านตั้งใจที่จะปฏิบัติงานโดยดีนั้น เป็นความดีที่ท่านจะทำสำหรับตัวเองด้วย สำหรับส่วนรวมด้วย เพราะว่า ถ้าส่วนรวมอยู่ดีท่านก็อยู่ดี ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงานโดยเรียบร้อย ทำให้ทั้งประเทศมีความราบรื่น ซึ่งเราต้องการความสงบของประเทศ ก็ขอให้ท่านสามารถที่จะปฏิบัติงาน โดยเรียบร้อยทุกอย่าง และขอให้ท่านมีความสำเร็จในงานการแต่ละส่วนที่ท่านต้องทำ"

นโยบายและผลการดำเนินงานของรัฐบาล
รัฐบาลได้ดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ

การแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจที่มีต่อประชาชน ได้แก่ โครงการเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยเลี้ยงชีพผู้สูงอายุ เช็คช่วยชาติ ต้สกล้าอาชีพ ชุมชนพอเพียง ธงฟ้าช่วยประชาชน โครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน ช่วยค่าครองชีพ โครงการ 3 ลด 3 เพิ่มแก้ปัญหาว่างงาน โครงการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โครงการ อสม.เชิงรุก และโครงการช่วยเหลือ SMEs
สร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทย และสร้างความสมานฉันท์ ได้แก่ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นประเทศไทย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสร้างความสมานฉันท์ การปฏิรูปการเมือง และการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
การวางรากฐานการพัฒนาในอนาคต ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ รถไฟฟ้า 5 สาย ถนนปลอดฝุ่น การปรับปรุงสถานีอนามัย และ 5 รั้วป้องกันยาเสพติด
แก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า ได้แก่ 2 ลด 3 เร่ง ยุทธศาสตร์รับ-รุกไข้หวัดใหญ่
ดำเนินการตามคำเรียกร้องของประชาชน



เรียนฟรี 15 ปี
รัฐบาลให้ความสำคัญในการจัดการศึกษา โดยมุ่งเน้นการส้รางโอกาสทางการศึกษาให้ทุกคนได้มีโอกาสเท่าเทียมกัน โดยจัดสรรงบประมาณจำนวน 19,296,100,000 บาท เพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาให้ทุกคนได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอย่างเท่าเทียมกัน 15 ปี ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่าย 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน อุปกรณ์ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งในปัจจุบันได้มีการดำเนินการไปแล้วร้อยละ 77 หรือเป็นเงินประมาณ 18,575,470,000 บาท ส่วนหนึ่งยังมีผู้ปกครองที่มีรายได้พอสมควรไม่ประสงค์จะรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลนำเงินในส่วนนี้ไปช่วยในการพัฒนาโรงเรียนในถิ่นธุรกันดาร 577 โรง รวมเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท[3]

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
รัฐบาลต้องการสร้างหลักประกันรายได้ เป็นการตอบแทนการทำงานหนักมาตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ โดยการจ่ายเงินค่ายังชีพ จำนวน 500 บาท ต่อเดือน ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

อสม. เชิงรุก
รัฐบาลเห็นความสำคัญของการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีอยู่ 987,019 คนทั่วประเทศ ให้ได้รับเงินค่าสวัสดิการตอบแทน (ค่าป่วยการ) ในอัตราคนละ 600 บาทต่อเดือน[5]

การดูแลสุขภาพ
อภิสิทธิ์สานต่อนโยบายเกี่ยวกับมาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลก ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เขาเตือนว่าสิทธิบัตรยาที่อยู่ในสภาวะถูกกดดันอย่างนี้อาจบานปลายมากยิ่งขึ้น ถ้าหากว่าสหรัฐอเมริกาทำสภาพการค้าของประเทศไทยให้ตกต่ำลง[6]

การออกกฎหมาย
พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสนอกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เพิ่มโทษหนักกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้ทัศนคติของบุคคลที่ดูหมิ่นและมีความต้องการให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยบนอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก 3 - 20 ปี หรือปรับ 200,000 - 800,000 บาท[7] ในเวลาเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาว่ามี 29 เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาและข้อความแสดงความคิดเห็นที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์เชื่อว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์.[8]

การตรวจสอบขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
การตรวจตราขบวนการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพภายใต้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะโดยเปรียบเทียบรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร[9] อภิสิทธิ์จัดตั้งกองกำลังทหารเฉพาะกิจที่คอยต่อสู้กับอันตรายจากความคิดเห็น ที่พิจารณาถึงบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยในทางการเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์เปิดเว็บไซต์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนแจ้งเว็บไซต์ผิดกฎหมาย มีเว็บไซต์กว่า 4,800 เว็บไซต์ถูกบล็อก เนื่องจากมีเนื้อหาที่เข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การเคลื่อนไหวถูกมองโดยนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่รณรงค์ร่วมกันเพื่อระงับการอภิปรายทางการเมืองภายในราชอาณาจักร

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นที่ทำการของเว็บไซต์ประชาไท ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ออนไลน์ที่คอยจ้องจับผิดรัฐบาล หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่บนพื้นฐานของการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 2 วันถัดมา อภิสิทธิ์ไปพบกับตัวแทนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยและสัญญาว่าจะเคารพสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ที่แสดงสีหน้าในขณะที่มีการพัฒนาบรรทัดฐานและมาตรฐานใหม่[11]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ดูเพิ่มที่ ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2551
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 กระทรวงการต่างประเทศของไทย มีคำสั่งเรียกเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงพนมเปญ กลับประเทศ เพื่อเป็นการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ตอบโต้การให้สัมภาษณ์กล่าวหากระบวนการยุติธรรมของไทย และเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ จากกรณีที่กัมพูชาแต่งตั้งพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทักษิณ ถือเป็นนักโทษที่ประเทศไทยต้องการตัวตามหมายจับในคดีทุจริตประมูลซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่งมีโทษจำคุก 2 ปี[12]

เช็คช่วยชาติ
วิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลกได้สร้างผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทย จำนวนผู้ว่างงานในเดือนมกราคม 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 800,000 คน โดยเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2551[13] ในต้นปี พ.ศ. 2552 เศรษฐกิจถูกคาดหวังว่าจะ ว่าจ้างตามสัญญา 3% ตลอดทั้งปี[14] เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยสร้างกำลังซื้อภายในประเทศในวงกว้างอย่างทั่วถึง เห็นผลเร็วและรั่วไหลน้อยที่สุด เพื่อพยุงเศรษฐกิจช่วงเวลาที่เศรษฐกิจหดตัวในระยะเร่งด่วน โดยการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศโดยนำเงินใส่มือประชาชนผู้มีรายได้น้อยโดยตรง รายละ 2,000 บาท (สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท)[15]

การตอบรับ
คำชื่นชม
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เวลา 08.30 น. ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจาง จิ่ว หวน เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยได้เดินทางเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้น นายจาง จิ่ว หวน เปิดเผยว่า มาเยี่ยมคำนับและนำสาส์นจากนายกรัฐมนตรีจีนมาแสดงความยินดีกับนายอภิสิทธิ์ในโอกาสดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยรัฐบาลจีนและประชาชนจีนจะยึดถือนโยบายเป็นมิตรกับประเทศไทย โดยจะพัฒนาความร่วมมือด้าน เศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์ การศึกษา การท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ทั้งนี้นายอภิสิทธิ์ยืนยันจะเดินทางไปเยือนจีนในเวลาที่เหมาะสม นายจาง จิ่ว หวน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไทยได้ยืนยันที่จะมีการจัดการประชุมอาเซียนซัมมิท ในเร็วๆนี้ โดยจะมีหลายประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งอินเดีย จีน เกาหลี เป็นต้น

และเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายควินตัน เควลย์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวหลังเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ที่พรรคประชาธิปัตย์ว่า นายอภิสิทธิ์ มีคุณสมบัติและความ สามารถที่ดีเยี่ยม เพราะเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนอีตัน อีกทั้งจบมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ พร้อมแสดงความเห็นด้วยกับนายกรัฐมนตรี ว่า รัฐบาลชุดนี้มีภารกิจใหญ่ 4 ประการคือการฟื้นความมั่นใจของนานาชาติในประเทศไทย สร้างความสมานฉันท์ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอีกครั้ง โดยยึดหลักนิติธรรม รักษาความปลอดภัยของสนามบิน ซึ่งถือเป็นประตูในการท่องเที่ยวของไทย สร้างความมั่นใจแก่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งจะดึงให้มีการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ในการเข้าพบครั้งนี้ ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นแฟนฟุตบอลอังกฤษ จึงได้มอบของขวัญเป็นเสื้อยืดนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด โดยด้านหลังมีชื่อ นายอภิสิทธิ์ และหมายเลข 27 ซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2552 เวทีการเสวนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยเจ้าของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ทั่วโลก ได้กล่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่าเข้าถึงคุณค่าและเข้าใจความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ยามเศรษฐกิจถดถอย[16]

เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้นำเสนอคำชื่นชมของสื่อต่างประเทศ ได้แก่ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น สำนักข่าวเอ็นเอชเค และสำนักข่าวอื่นๆ ว่าได้นำเสนอข่าวชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่สามารถควบคุมสถานการณ์ในการชุมชนของกลุ่มคนเสื้อแดงได้โดยสูญเสียน้อยที่สุด นอกจากนี้สำนักข่าวรอยเตอร์ ยังได้นำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ว่า การจลาจลของกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้อาจเป็นความพยายามเฮือกสุดท้ายของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อกลับคืนสู่อำนาจ ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังสามารถฟื้นฟูความน่าเชื่อถือที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ [17]

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2552 นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงการที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ประเมินผลการทำงานของรัฐบาลในช่วง 1 ปีโดยให้คะแนนในระดับ บี เพราะท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ต่อให้หาเทวดาที่ไหนมาทำงาน ก็ไม่สามารถทำได้ดีไปกว่านี้แล้ว ที่สำคัญต้องการให้รัฐบาลพยายามประคองตัวเดินหน้าแก้ไขปัญหาของชาติต่อไปให้ได้ โดยไม่ให้เกิดการยุบสภาในเวลาที่เร็วเกินไป เพราะหากมีการยุบสภาเกิดขึ้นเร็ว ก็ทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ขณะเดียวกันต้องดูแลอย่าให้เกิดความขัดแย้งเพราะจะบั่นทอนความเชื่อมั่นลงไปอีก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นทันตาเห็นทันทีแต่จะเกิดขึ้นในอีก 5-10 ปีข้างหน้า หรือทำให้ลูกหลานของเราเดือดร้อน[18]

คำวิจารณ์
เมื่อช่วงสายวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่พรรคเพื่อไทย นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้แถลงว่า ขอเสนอฉายา ครม.อภิสิทธิ์ 1 เพื่อให้ประชาชนโหวตเลือกระหว่างฉายา "ครม.ต่างตอบแทน" กับ "ครม.ไอ้โหนไอ้ห้อย" ผ่านทางโทรศัพท์หมายเลข 0-2280-6888

ต่อมาในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551 นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ให้สัมภาษณ์ถึงโฉมหน้า ครม.อภิสิทธิ์ 1 ว่า เป็นรัฐบาลที่ไปปล้นเขามา ปล้นกลางอากาศ หรือไฮแจ็ค โดยไม่เกรงใจและไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน [19]

วันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2552 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน ผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมพรรคเพื่อไทย กล่าวบนเวทีปราศรัยใหญ่ช่วย นายขจิตร ชัยนิคม ผู้สมัครเลือกซ่อม ส.ส.เขต 1 มหาสารคามหาเสียงว่า หลังเลือกตั้งวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2551 ฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และขอตั้งฉายารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ว่า เป็น "รัฐบาลเด็กอนุบาล" เพราะมีมือที่มองเห็นและไม่เห็นช่วยอาบน้ำประแป้งให้เสร็จ แล้วเอาไปส่งโรงเรียนเอาใครก็ไม่รู้มาเป็นรัฐมนตรี [20]

ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2552 นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวถึงกรณีที่สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี เตรียมถอนฟ้องแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกยึดทำเนียบรัฐบาลว่าตนของตั้งฉายาให้กับรัฐบาลชุดนี้ว่า รัฐบาลชุดป้ายสี ตัดตอน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นการสมยอมกันของ นายลอยเลื่อน บุญนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กับกลุ่มพันธมิตรฯ โดยคดีดังกล่าวได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมากกลับจะถอนฟ้อง มีการตัดตอนเพื่อไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม [21]

ผลสำรวจ
ดัชนีความสุข
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เอแบคโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัด จำนวน 3,516 ตัวอย่างเกี่ยวกับดัชนีความสุขภายหลังการเปลี่ยนขั้วการเมือง ผลปรากฏว่าความสุขของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก 4.84 ในช่วงเดือนตุลาคม มาอยู่ที่ 6.55 จากคะแนนเต็ม 10 และถือว่าเป็นค่าความสุขที่สูงที่สุดตั้งแต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2551 โดยพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 79.7 นอนหลับค่อนข้างสนิทถึงนอนหลับได้สนิทขึ้นหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว ในขณะที่ร้อยละ 9.7 นอนหลับได้ระดับปานกลาง และร้อยละ 10.6 นอนไม่ค่อยหลับถึงนอนไม่หลับเลย นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างจำนวนมาก หรือร้อยละ 38.2 คิดว่าทิศทางการเมืองจะดีขึ้นหลังจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 28.2 คิดว่าจะแย่ลง และร้อยละ 33.6 ยังไม่มีความเห็นในเรื่องนี้[22]

ผลงานรัฐบาล
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2552 สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ผลงานรัฐบาลในรอบ 1 ปี ในทรรศนะของประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ผลการสำรวจพบว่าผลงานรัฐบาลที่ประชาชนพอใจมากที่สุดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อันดับที่หนึ่งได้ 8.15 คะแนน คือ การปกป้องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ สำหรับอันดับแรกที่ประชาชนพอใจผลงานรัฐบาลน้อยที่สุด ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้คะแนนพอใจเฉลี่ย 5.10

โดยคะแนนรวมของพลงานรัฐบาลอยู่ที่ 6.35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีความหมายว่า ประชาชนพอใจต่อผลงานรัฐบาลค่อนข้างมาก

รัฐสภาไทย





รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสถาบันที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานอำนาจให้เป็นผู้ออกกฎหมายสำหรับการปกครองและการบริหารประเทศ ซึ่งเรียกว่า อำนาจนิติบัญญัติ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้รัฐสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะประชุมร่วมกัน หรือแยกกัน ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง

ประวัติรัฐสภาไทย
รัฐสภาของประเทศไทยกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแรก เมื่อผู้แทนราษฎรจำนวน 70 คนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ได้เปิดประชุมสภาขึ้นเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และเมื่อการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรทั่วประเทศได้สำเร็จลง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานพระที่นั่งอนันตสมาคมองค์นี้แก่ผู้แทนราษฎรเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสืบต่อมา

ต่อมา เมื่อจำนวนสมาชิกรัฐสภาต้องเพิ่มมากขึ้นตามอัตราส่วนของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องจัดสร้างอาคารรัฐสภาที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อให้มีที่ประชุมเพียงพอกับจำนวนสมาชิก และมีที่ให้ข้าราชการสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาใช้เป็นที่ทำงาน จึงได้มีการวางแผนการจัดสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ถึง 4 ครั้งด้วยกัน แต่ก็ต้องระงับไปถึง 3 ครั้ง เพราะคณะรัฐมนตรีผู้ดำริต้องพ้นจากตำแหน่งไปเสียก่อน

ในครั้งที่ 4 แผนการจัดสร้างรัฐสภาใหม่ได้ประสบผลสำเร็จ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงยืนยันพระราชประสงค์เดิมที่จะให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมและบริเวณ เป็นที่ทำการของรัฐสภาต่อไป และยังได้พระราชทานที่ดินบริเวณทิศเหนือของพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้เป็นที่จัดสร้างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาขึ้นใหม่ด้วย

สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 โดยมีกำหนดสร้างเสร็จภายใน 850 วัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท ประกอบด้วยอาคารหลัก 3 หลัง คือ

หลังที่ 1 เป็นตึก 3 ชั้นใช้เป็นที่ประชุมวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของสภาทั้งสอง ส่วนอื่นๆ เป็นที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ประธาน และรองประธานของสภาทั้งสอง
หลังที่ 2 เป็นตึก 7 ชั้น ใช้เป็นสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาและโรงพิมพ์รัฐสภา
หลังที่ 3 เป็นตึก 2 ชั้นใช้เป็นสโมสรรัฐสภา
สถานที่ทำการใหม่ของรัฐสภา ใช้ในการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม ถือเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และใช้เป็นที่รับรองอาคันตุกะบุคคลสำคัญ ใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ และมีโครงการใช้ชั้นล่างของพระที่นั่งเป็นจัดสร้างพิพิธภัณฑ์รัฐสภา

ประธานรัฐสภาไทย
ดูบทความหลักที่ รายนามประธานรัฐสภาไทย
จนถึงปัจจุบัน รัฐสภาไทย มีผู้ดำรงตำแหน่ง ประธานรัฐสภา รวม 28 คน ดังนี้

1. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
28 มิถุนายน - 1 กันยายน 2475
15 ธันวาคม 2475 - 26 กุมภาพันธ์ 2476
2. เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
2 กันยายน 2475 - 10 ธันวาคม 2476
3. พลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี (พลเรือตรี กระแส ประวาหะนาวิน)
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
26 กุมภาพันธ์ 2476 - 22 กันยายน 2477
6 กรกฎาคม 2486 -24 มิถุนายน 2487
ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
31 สิงหาคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2490
15 พฤษภาคม 2490 - 8 พฤศจิกายน 2490
4. เจ้าพระยาศรีธรรมมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา)
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
22 กันยายน 2477 - 15 ธันวาคม 2477
17 ธันวาคม 2477 - 31 กรกฎาคม 2478
7 สิงหาคม 2478 - 31 กรกฎาคม 2479
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
26 พฤศจิกายน 2490 - 18 กุมภาพันธ์ 2491
20 กุมภาพันธ์ 2491 - 14 มิถุนายน 2492
15 มิถุยายน 2492 - 20 พศจิกายน 2493
22 พฤศจิกายน 2493 - 29 พฤศจิกายน 2494
5. พระยามานวราชเสวี (วิเชียร ณ สงขลา) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
3 สิงหาคม 2479 - 10 ธันวาคม 2480
10 ธันวาคม 2480 -24 มิถุนายน 2481
28 มิถุยายน 2481 - 10 ธันวามคม 2481
12 ธันวาคม 2481 - 24 มิถุนายน 2482
28 มิถุนายน 2482 - 24 มิถุนายน 2483
1 กรกฎาคม 2483 - 24 มิถุนายน 2484
1 กรกฎาคม 2484 - 24 มิถุนายน 2485
30 มิถุนายน 2485 - 24 มิถุนายน 2586
2 กรกฎาคม 2487 - 24 มิถุนายน 2488
29 มิถุนายน 2488 - 15 ตุลาคม 2488
26 มกราคม 2489 - 9 พฤษภาคม 2489
6. พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ประธานรัฐสภา และประธานพฤฒสภา
4 มิถุนายน 2489 - 24 สิงหาคม 2489
7. พลเอก พระประจนปัจนึก (พุก มหาดิลก) ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
1 ธันวาคม 2494 - 17 มีนาคม 2495
22 มีนาคม 2495 - 23 มิถุนายน 2495
28 มิถุนายน 2495 -23 มิถุนายน 2496
2 กรกฎาคม 2496 - 23 มิถุนายน 2497
29 มิถุนายน 2497 - 23 มิถุนายน 2498
2 กรกกาคม 2498 - 23 มิถุนายน 2499
30 มิถุนายน 2499 - 25 กุมภาพันธ์ 2500
16 มีนาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2500
28 มิถุนายน 2500 - 16 กันยายน 2500
27 ธันวาคม 2500 - 23 มิถุนายน 2501
25 มิถุนายน 2501 - 20 ตุลาคม 2501
8. พลเอก หลวงสุทธิสารรณกร (สุทธิ์ สุทธิสารรณกร)
ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
20 กันยายน 2500 - 14 ธันวาคม 2500
ประธานรัฐสภา ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
6 กุมภาพันธ์ 2502 - 17 เมษายน 2511
9. นายทวี บุณยเกตุ ประธานรัฐสภา และประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ
8 พฤษภาคม2511 -20 มิถุนายน 2511
10. พันเอก นายวรการบัญชา (บุญเกิด สุตันตานนท์) ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
22 กรกฎาคม 2511 - 6 กรกฎาคม 2514
7 กรกฎาคม 2514 - 17 พฤศจิกายน 2514
11. พลตรีศิริ สิริโยธิน ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
18 ธันวามคม 2515 - 11 ธันวาคม 2516
12. พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
29 ธันวาคม 2516 -7 ตุลาคม 2517
13. นายประภาศน์ อวยชัย ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
17 ตุลาคม 2517 - 25 มกราคม 2518
14. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
7 กุมภาพันธ์ 2518 -12 มกราคม 2519
15. นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราญฏร
19 เมษายน 2519 - 6 ตุลาคม 2519
6 กุมภาพันธ์ 2544 - 5 มกราคม 2548
16. พลอากาศเอก กมล เดชะตุงคะ ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดินและประธานรัฐสภา
22 ตุลาคม 2519 - 20 พฤศจิกายน 2519
17. พลอากาศเอก หะริน หุงสกุล
ประธานรัฐสภา และประธานสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
28 พฤศจิกายน 2519 - 20 ตุลาคม 2520
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
25 พฤศจิกายน 2520 - 22 เมษายน 2522
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
9 พฤษภาคม 2522 - 19 มีนาคม 2526
18. นายจารุบุตร เรืองสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
26 เมษายน 2526 - 19 มีนาคม 2527
19. ศาสตราจารย์อุกฤษ มงคลนาวิน
ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
30 เมษายน 2527 - 30 เมษายน 2528
1 พฤษภาคม 2528 - 23 เมษายน 2530
24 เมษายน 2530 - 22 เมษายน 2532
3 เมษายน 2335 - 26 พฤษภาคม 2535
ประธานรัฐสภา และประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2 เมษายน 2534 - 21 มีนาคม 2535
20. ร้อยตำรวจตรี วรรณ ชันซื่อ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
4 พฤษภาคม 2532 - 23 กุมภาพันธ์ 2534
21. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา
28 มิถุนายน 2535 - 29 มิถุนายน 2535
22. ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
22 กันยายน 2535 - 19 พฤษภาคม 2538
23. นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
11 กรกฎาคม 2538 27 กันยายน 2538
24. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
24 พฤศจิกายน 2539 - 27 มิถุนายน 2543
25. นายพิชัย รัตตกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
30 มิถุนายน 2543 - 9 พฤศจิกายน 2543
26. นายโภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
8 มีนาคม 2548 - 24 กุมภาพันธ์ 2549
27. นายยงยุทธ ติยะไพรัช ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
23 มกราคม 2551 - เมษายน 2551
28. นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฏร
15 พฤษภาคม 2551 - (ปัจจุบัน)

อาคารรัฐสภาแห่งใหม่
วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ อนุมัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2552 เป็นเงิน 12,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บนพื้นที่ 119 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเกียกกาย โดยจะต้องย้ายหน่วยราชการที่อยู่ในบริเวณนั้น ประกอบด้วย โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ช่างกล ขส.ทบ. และบ้านพักข้าราชการหทาร กรมราชองครักษ์ ซึ่งได้กำหนดวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ประวัติการ กบฎ ปฏิวัติและการรัฐประหารในประเทศไทย






'กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร' โดยสาระสำคัญแล้ว การทำรัฐประหาร คือการใช้กำลังอำนาจเข้าเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐ โดยมาก หากรัฐประหารครั้งนั้นสำเร็จ จะเรียกว่า 'ปฏิวัติ' แต่หากไม่สำเร็จ จะเรียกว่า 'กบฏ'

จาก พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2534 มีการก่อรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งที่เป็น การปฏิวัติและเป็น กบฏ มีดังนี้
พ.ศ. เหตุการณ์ หัวหน้าก่อการ รัฐบาล
2475 ปฏิวัติ 24 มิถุนายน พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
2476 รัฐประหาร พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
2476 กบฎบวรเดช พล.อ.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2478 กบฎนายสิบ ส.อ.สวัสดิ์ มหะหมัด พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2481 กบฎพระยาสุรเดช พ.อ.พระยาสุรเดช พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
2490 รัฐประหาร พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
2491 กบฎแบ่งแยกดินแดน ส.ส.อีสานกลุ่มหนึ่ง นายควง อภัยวงศ์
2491 รัฐประหาร คณะนายทหารบก นายควง อภัยวงศ์
2491 กบฏเสนาธิการ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2492 กบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 กบฎแมนฮัตตัน น.อ.อานน บุณฑริกธาดา จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2494 รัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2497 กบฎสันติภาพ นายกุหราบ สายประสิทธิ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2500 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
2501 รัฐประหาร จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ถนอม กิตติขจร
2514 รัฐประหาร จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ถนอม กิตติขจร
2516 ปฏิวัติ 14 ตุลาคม ประชาชน จอมพล ถนอม กิตติขจร
2519 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
2520 กบฎ 26 มีนาคม พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2520 รัฐประหาร พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
2524 กบฎ 1 เมษายน พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2528 การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน พ.อ.มนูญ รูปขจร * พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
2534 รัฐประหาร พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
* คณะบุคคลกลุ่มนี้ อ้างว่า พลเอก เสริม ณ นคร อดีตผู้บัญชาทหารสูงสุดเป็นหัว
หน้า แต่หัวหน้าก่อการจริงคือ พ.อ. มนูญ รูปขจร


ประวัติการปฏิวัติรัฐประหารและกบฎ ในประเทศไทย (2475 - 2534)

การปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

" คณะราษฎร " ซึ่งประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนบางกลุ่ม จำนวน 99 นาย มีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่7 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศสืบต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ ให้แก่ปวงชนชาวไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงทรงยินยอมตามคำร้องขอ
ของคณะราษฎร ที่ทำการปฏิวัติในครั้งนั้น

รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยทหารบก ทหารเรือ และพลเรือนคณะหนึ่ง ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศอีกครั้งหนึ่ง เพื่อขอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออกจากตำแหน่งซึ่งเป็นการริดรอนอำนาจภายในคณะราษฏร ที่มีการแตกแยกกันเองในส่วนของการใช้อำนาจ ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ใช้อำนาจในทางที่ละเมิดต่อ
กฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและประเทศชาติ เช่น ให้มีศาลคดีการเมือง ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการรัฐสภา สำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอิสระอย่างเต็มที่ การประกาศทรัพย์สินของนักการเมืองทุกคน ทุกตำแหน่ง การออกกฎหมายผลประโยชน์ขัดกัน ฯลฯ

กบฏบวชเดช 11 ตุลาคม 2476

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารจากหัวเมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ก่อการเพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาล โดยอ้างว่าคณะราษฎรปกครองประเทศไทยโดยกุมอำนาจไว้แต่เพียงแต่เพียงผู้เดียว และปล่อยให้บุคคลกระทำการหมิ่นองค์พระประมุขของชาติ รวมทั้งจะดำเนินการปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์ ตามแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ คณะผู้ก่อการได้ยกกำลังเข้ายึดดอนเมืองเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลได้แต่งตั้ง พ.ท.หลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ออกไปปราบปรามจนประสบผล
สำเร็จ

กบฏนายสิบ 3 สิงหาคม 2478

ทหารชั้นประทวนในกองพันต่างๆ ซึ่งมีสิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด เป็นหัวหน้า ได้ร่วมกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยจะสังหารนายทหารในกองทัพบก และจับพระยาพหลพลพยุหเสนาฯ และหลวงพิบูลสงครามไว้เป็นประกัน รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ หัวหน้าฝ่ายกบฏถูกประหารชีวิต โดยการตัดสินของศาลพิเศษในระยะต่อมา

กบฏพระยาทรงสุรเดช 29 มกราคม 2481

ได้มีการจับกุมบุคคลผู้คิดล้มล้างรัฐบาล เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดังเดิม นายพันเอกพระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และได้ให้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ต่อมารัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณา และได้ตัดสินประหารชีวิตหลายคน ผู้มีโทษถึงประหารชีวิตบางคน เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชานาญยุทธศิลป์ ได้รับการลดโทษเป็นจำคุก ตลอดชีวิต เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นผู้ได้ทำคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติมา
ก่อน

รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมี พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้าสำคัญ ได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งมีพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จแล้วมอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลต่อไป ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย

กบฏแบ่งแยกดินแดน 28 กุมภาพันธ์ 2491

จะมีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรของภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลายคน เช่น นายทิม ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่าร่วมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกผู้แทนราษฏรมีเอกสิทธิทางการเมือง

รัฐประหาร 6 เมษายน 2491

คณะนายทหารซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2490 บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วมอบให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งต่อไป

กบฏเสนาธิการ 1 ตุลาคม 2491

พลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเข้าเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทราบแผนการ และจะกุมผู้คิดกบฏได้สำเร็จ

กบฏวังหลวง 26 มิถุนายน 2492

นายปรีดี พนมยงค์ กับคณะนายทหารเรือ และพลเรือนกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังเข้ายึดพระบรมมหาราชวัง และตั้งเป็นกองบัญชาการ ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารผู้ใหญ่หลายนาย พลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยกาปราบปราม มีการสู้รบกันในพระนครอย่างรุนแรง รัฐบาลสามารถปราบฝ่ายก่อการกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนออกนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง

กบฏแมนฮัตตัน 29 มิถุนายน 2494

นาวาตรีมนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัยใช้ปืนจี้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปกักขังไว้ในเรือรบศรีอยุธยา นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา หัวหน้าผู้ก่อการได้สั่งให้หน่วยทหารเรือมุ่งเข้าสู่พระนครเพื่อยึดอำนาจ และประกาศตั้งพระยาสารสาสน์ประพันธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารเรือ กับ ทหารอากาศ จอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถหลบหนีออกมาได้ และฝ่ายรัฐบาลได้ปรามปรามฝ่ายกบฏจนเป็นผลสำเร็จ

รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตนเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ต้องใช้วิธีการให้ตำแหน่งและผลประโยชน์ต่างๆ แก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอยู่เสมอ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 ซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้น มีวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไป จึงได้ล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเสียพร้อมกับนำเอารัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มาใช้อีกครั้งหนึ่ง

กบฏสันติภาพ 8 พฤศจิกายน 2497

นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และคณะถูกจับในข้อหากบฏ โดยรัฐบาลซึ่งขณะนั้นมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าการรวมตัวกันเรี่ยไรเงิน และข้าวของไปแจกจ่ายแก่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนั้นกำลังประสบกับความเดือดร้อน เนื่องจากความแห้งแล้งอย่างหนัก เป็นการดำเนินการที่เป็นภัยต่อรัฐบาล นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กับคณะถูกศาลตัดสินจำคุก 5 ปี

รัฐประหาร 16 กันยายน 2500

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารนำกำลังเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลซึ่งมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากเกิดการเลือกตั้งสกปรก และรัฐบาลได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างหนัก จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ต้องหลบหนีออกไปนอกประเทศ

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501

เป็นการปฏิวัติเงียบอีกครั้งหนึ่ง โดยจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้น ลากออกจากตำแหน่ง ในขณะเดียวกันจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากเกิดการขัดแย้งในพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเรียกร้องผลประโยชน์หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เป็นเครื่องตอบแทนกันมาก คณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง และให้สภาผู้แทน และคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน 2514

จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำการปฏิวัติตัวเอง ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขึ้นทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ และให้ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในระยะเวลา 3 ปี

ปฏิวัติโดยประชาชน 14 ตุลาคม 2516

การเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา และประชาชนกลุ่มหนึ่งได้แผ่ขยายกลายเป็นพลังประชาชนจำนวนมาก จนเกิดการปะทะสู้รบกันระหว่างรัฐบาลกับประชาชน เป็นผลให้จอมพลถนอม กิตติขจร นายักรัฐมนตรี จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

ปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 6 ตุลาคม 2519

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ และคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเนื่องจากเกิดการจลาจล และรัฐบาลพลเรือนในขณะนั้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยทันที คณะปฏิวัติได้ประกาศให้มีการปฏิวัติการปกครอง และมอบให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะนายทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาล ซึ่งมีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากรัฐบาลได้รับความไม่พอใจจากประชาชน และสถานการณ์จะก่อให้เกิดการแตกแยกระหว่างข้าราชการมากยิ่งขึ้น ประกอบกับเห็นว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการปฏิรูปการปกครอง ซึ่งมีระยะเวลาถึง 12 ปีนั้นนานเกินไป สมควรให้มีการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็ว

กบฎ 26 มีนาคม 2520

พลเอกฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกสวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วน หน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน ภายใต้ การนำของ พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกกมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พลเอกฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐ
ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2520

กบฎ 1 เมษายน 2524

พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา ด้วยความสนับสนุนของคณะนายทหารหนุ่มโดยการนำของพันเอกมนูญ รูปขจร และพันเอกประจักษ์ สว่างจิตร ได้พยายามใช้กำลังทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดอำนาจปกครองประเทศ ซึ่งมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกิดความแตกแยกในกองทัพบก แต่การปฏิวัติล้มเหลว ฝ่ายกบฏยอมจำนนและถูกควบคุมตัว พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา สามารถหลบหนีออกไปนอกประเทศได้ ต่อมารัฐบาลได้ออกกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องการกบฏในครั้งนี้

การก่อความไม่สงบ 9 กันยายน 2528

พันเอกมนูญ รูปขจร นายทหารนอกประจำการ ได้นำกำลังทหาร และรถถังจาก ม.พัน 4 ซึ่งเคยอยู่ใต้บังคับบัญชา และกำลังทหารอากาศโยธินบางส่วน ภายใต้การนำของนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด และประกาศให้ พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองของประเทศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในขณะที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการทหารบก อยู่ในระหว่างการไปราชการต่างประเทศ กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลโดยการนำของพล
เอกเทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชากรทหารสูงสุด ได้รวมตัวกันต่อต้านและควบคุสถานการณ์ไว้ได้ในเวลาต่อมา พันเอกมนูญ รูปขจร และนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร หลบหนีออกนอกประเทศ การก่อความไม่สงบในครั้งนี้มีอดีตนายทหาร ผู้ใหญ่หลายคน ตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีส่วนร่วมอยู่ด้วย ได้แก่ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลอากาศเอกพะเนียง กานตรัตน์ พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา และพลอากาศเอกอรุณ พร้อมเทพ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534

โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติซึ่งประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เจ้าหน้าที่-ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้การนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก พลเรือเอกประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลอากาศเกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลตำรวจเอกสวัสดิ์ อมร-วิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบ เรียบร้อยแห่งชาติ และพลเอกอสิระพงศ์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารบก
เลขาธิการคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475



การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 คือการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยคณะราษฎร ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
การเตรียมการเปลี่ยนแปลง
คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพทำให้สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะรุนแรงที่เสียเลือดเนื้อได้

ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม


หมุด ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีข้อความว่า "...ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎร ได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ เพื่อความเจริญของชาติ"หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ

หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็นหน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพหัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.
หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.
หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที
หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว
แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน

การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป

หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า
ครั้งที่1 กบฎ ร.ศ.130 (พ.ศ.2454) โดย คณะ ร.ศ.130

- เกิด ขึ้นก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นานถึง 20 ปี โดยเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2455 (ร.ศ. 130) เมื่อนายทหารและปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง วางแผนปฏิบัติการโดยหมายให้พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ และเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่แผนการแตกเสียก่อน จึงมีการจับกุมผู้คิดก่อการหลายคนไว้ได้ 91 คน คณะตุลาการศาลทหารมีการพิจารณาตัดสินลงโทษให้จำคุกและประหารชีวิต โดยให้ประหารชีวิตหัวหน้าผู้ก่อการจำนวน 3 คน คือ ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์ ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 20 คน จำคุกยี่สิบปี 32 คน จำคุกสิบห้าปี 6 คน จำคุกสิบสองปี 30 คน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย และได้มีพระบรมราชโองการพระราชทานอภัยโทษ ละเว้นโทษประหารชีวิต ด้วยทรงเห็นว่า ทรงไม่มีจิตพยาบาทต่อผู้คิดประทุษร้ายแก่พระองค์

ครั้งที่2 กบฎบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ.2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

- เกิดขึ้นเมื่อ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็นการกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 สาเหตุมาจากความ ขัดแย้งระหว่างระบอบเก่าและระบอบใหม่ จากข้อโต้แย้งในเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่ถูกกล่าวหาจากผู้เสียประโยชน์ว่าเป็น "คอมมูนิสต์" และชนวน สำคัญที่สุดคือข้อโต้แย้งในเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหา กษัตริย์ในระบอบใหม่ เป็นผลนำไปสู่การนำกำลังทหารก่อกบฏโดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" โดยในที่สุดฝ่ายรัฐบาลสามารถปราบปรามคณะกบฏลงได้ ส่วนพระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาได้หนีไปยังประเทศกัมพูชา



ครั้งที่3 กบฎนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ.2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด เป็นหัวหน้า

- เป็นแผนที่ จะเกิดขึ้นในเวลา 03.00 น. วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เมื่อนายทหารชั้นประทวนในกองพันต่าง ๆ นำโดย สิบเอกสวัสดิ์ มหะมัด ได้รวมตัวกันก่อการเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยหมายจะสังหารนายทหารคนสำคัญในกองทัพบกหลายคน โดยเฉพาะหลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ให้จับตายเท่านั้น เมื่อลงมือจริง สามารถจับพระยาพหลพลพยุหเสนา และ พันโทหลวงพิบูลสงคราม (จอมพลป. พิบูลสงคราม - ยศในขณะนั้น) เป็นตัวประกันไว้ได้ แต่รัฐบาลสามารถจับกุมผู้คิดก่อการเอาไว้ได้ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 เวลา 12.00 น. ต่อมาได้มีการตั้งศาลพิเศษชำระคดี หัวหน้าฝ่ายกบฏ ส.อ.สวัสดิ์ มหะมัด ถูกตัดสินประหารชีวิต โดยศาลนี้ไม่มีทนาย ไม่มีอุทธรณ์ ไม่มีฎีกา และยังสามารถตั้งผู้พิพากษาได้ตามใจอีกต่างหาก โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้พิพากษาที่ผ่านคดีต่าง ๆ มาแล้วอย่างมากเช่นศาลคดีตามปกติ

ครั้งที่4 กบฎพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฎ 18 ศพ (29 มกราคม พ.ศ.2482) โดย พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

- เป็นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 เนื่อง จากความขัดแย้งระหว่าง หลวงพิบูลสงคราม กับพระยาทรงสุรเดช ตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การสนับสนุน พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เหตุการณ์ครั้งกบฏบวรเดช และเหตุการณ์พยายามลอบสังหารหลวงพิบูลสงครามติดต่อกันหลายครั้ง (ลอบยิง 2 ครั้ง วางยาพิษ 1 ครั้ง)

เมื่อหลวงพิบูลสงคราม ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พระยา ทรงสุรเดช ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้มีคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ทส. ประจำตัว


ต่อท้าย #1 20 เม.ย. 2553, 1:03:09 ครั้งที่5 กบฎเสนาธิการ (1 ตุลาคม พ.ศ.2491) โดย พลตรีหลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้า

- เมื่อนายทหารระดับเสนาธิการของกองทัพ เช่น พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง และปรับปรุงกองทัพจากความเสื่อมโทรม และได้ให้ทหารเล่นการเมืองต่อไป แต่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทราบแผนการล่วงหน้าและทำการจับกุมผู้คิดก่อการได้ ผู้ถูกจับกุมในเหตุการณ์ครั้งนี้มีอดีตรัฐมนตรีสมัย นายปรีดี พนมยงค์ และพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีหลายคน

กบฏครั้งนี้ เกิดหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ประมาณหนึ่งปี และหลังจากกบฏเสนาธิการไม่ถึงหนึ่งปี ก็เกิดกบฏซ้ำอีกครั้ง คือ กบฏวังหลวง เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 และหลังจากนั้นอีกครั้ง คือ กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494. ความพยายาม ยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประสบผลสำเร็จในที่สุด ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารทำการโค่นล้มรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม



ครั้งที่6 กบฎแบ่งแยกดินแดน (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491)
- เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ได้มีการจับกุมสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูมิพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่ารวมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิคุ้มครองทางการเมือง

ที่สุดกรมตำรวจ จึงใช้วิธีใช้อำนาจและเล่ห์เหลี่ยมในการจับกุม 4 อดีตรัฐมนตรีจากภาคอีสาน ประกอบด้วย จำลอง ดาวเรือง ถวิล อุดล ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งทั้งหมดเป็นอดีตรัฐมนตรีและนักการเมืองในสังกัดของนายปรีดี พนมยงค์ และเตียง ศิริขันธ์

จากนั้นจึงนำไปยิงทิ้ง เมื่อเวลา 03:00 คืนวันที่ 4 มีนาคม 2492 ที่ถนนพหลโยธิน ก.ม.ที่ 11 บริเวณบางเขน (ใกล้แยกรัชโยธิน) โดยทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยบนรถขนนักโทษของตำรวจ แต่ทางตำรวจแถลงว่าเกิดจากการปะทะกับโจรมลายูที่จะมาชิงตัวนักโทษ ซึ่งไม่มีใครเชื่อถือ
ต่อท้าย #2 20 เม.ย. 2553, 1:03:25 ครั้งที่7 กบฎวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ 2492) โดย ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า

- เกิดขึ้นโดยนายปรีดี พนมยงค์นำกองกำลังส่วนหนึ่งจากประเทศจีนร่วมกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" นำกำลังยึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ (จึงเป็นที่มาของชื่อกบฏในครั้งนี้) ในเวลาประมาณ 16.00 น. และเมื่อเวลา 21.00 น. ประกาศถอดถอน รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม และนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย โดยนายปรีดีได้ปลอมตัวเป็นทหารเรือและติดหนวดปลอมปะปนเข้ามาพร้อมกับกลุ่ม กบฏ แต่มีผู้พบเห็นและจำได้

ซึ่งความจริงแล้ว ทางฝ่ายรัฐบาลก็รู้ตัวก่อนแล้ว เพราะ จอมพล ป.ก่อนหน้านั้นได้พูดทิ้งท้ายไว้เป็นนัยทางวิทยุ กระจายเสียงแห่งประเทศไทยว่า "เลือดไทยเท่านั้น ที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้" และได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ล่วงก่อนถึง 3 วันเกิดเหตุ

ในระยะแรก ฝ่ายกบฏดูเหมือนจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง ทหารฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งตัวติดและสามารถยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้ อีกทั้งกองกำลังทหารเรือฝ่ายสนับสนุนกบฏจากฐานทัพ เรือสัตหีบก็ติดอยู่ที่ท่าน้ำบาง ปะกง เพราะน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากไปได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กองกำลังทั้งหมดมาถึงพระนครในเวลา 2 ยาม ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว

จุดที่มีการปะทะกันระหว่างทหารบกฝ่ายรัฐบาล และทหารเรือฝ่ายกบฏ เช่น ถนนวิทยุ ถนนพระราม 4 สาทร เป็นต้น มีการยิงกระสุนข้ามหลังคาบ้านผู้คนในละแวกนั้นไปมาเป็นตับ ๆ

พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ - ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปราม มีการสู้รบกันในเขตพระนครอย่างหนักหน่วง โดย พล.ต.สฤษดิ์เป็นผู้ยิงปืนจากรถถังทำลายประตู วิเศษไชยศรีของพระบรมมหาราชวังพังทลายลง จนในที่สุด เวลาเย็นของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายก็หยุดยิง เมื่อรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้และปราบปรามฝ่ายกบฏได้สำเร็จ นายปรีดี พนมยงค์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอีกครั้ง และหลังจากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้มีการสังหารบุคคลสำคัญทางการเมืองลงหลายคน เช่น พล.ต.ต. บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต. โผน อินทรทัต ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบและอดีตเสรีไทย รวมทั้งการสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรีที่ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 13 คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง และนายทองเปลว ชลภูมิ ซึ่งเป็นนักการเมืองในสายของนายปรีดี พนมยงค์ เป็นต้น



ครั้งที่8 กบฎแมนฮัตตัน (29 มิถนายน พ.ศ.2494) โดย นาวาเอกอานน บุญฑริกธาดา และ นาวาตรีมนัส จารุภา

- เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง นำโดย น.ต.มนัส จารุภา รน. ทำการกบฏจี้ตัวจอม พล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนสัญชาติอเมริกัน ชื่อ แมน ฮัตตัน ที่กองบัญชาการกองทัพเรือ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยนำไปกักขังไว้ในเรือหลวงชื่อ "ศรีอยุธยา" ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา

หัวหน้าคณะก่อการ คือ น.อ. อานนท์ บุญฑริกธาดา รน. สั่งการให้ทหารเรือกลุ่มที่สนับสนุนการก่อการมุ่งหน้าและตรึงกำลังไว้ที่พระ นคร และประกาศตั้ง พระยาสารสาสน์ประพันธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม กระจายเสียงในฐานะนายกรัฐมนตรีจากในเรือ แต่ทางฝ่ายรัฐบาลไม่ยอม ได้กระจายเสียงตอบโต้ไปโดยใช้วิทยุของกรมการรักษาดิน แดน (ร.ด.) โดยได้ให้นายวรการ บัญชา ประธานสภาผู้แทนราษฎรรักษาการณ์นายกรัฐมนตรีแทน และตั้งกองบัญชาการขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล (ในขณะนั้นคือ พระที่นั่งอนันตสมาคม) จึงเกิดการต่อสู้ยิงกันอย่างหนักระหว่างทหารฝ่ายรัฐบาลและทหารฝ่ายก่อการ มีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินแบบ Spirt fire และ T6 ใส่เรือหลวงศรีอยุธยาที่อยู่กลางแม่น้ำเจ้า พระยา จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. ของวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เรือก็จม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกทหารเรือที่อยู่บนเรือนำว่ายน้ำหลบหนีออกมาได้ โดยการกบฏครั้งนี้นับว่าเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพราะสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย และมีผู้บาดเจ็บล้มตายนับร้อยทั้งทหารของทั้ง 2 ฝ่าย และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ภายหลังเหตุการณ์ผู้ก่อการได้แยกย้ายกันหลบหนีไปพม่าและสิงคโปร์
ต่อท้าย #3 20 เม.ย. 2553, 1:03:44 ครั้งที่9 กบฎสันติภาพ (8 พฤศจิกายน พ.ศ.2497)

- เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ในการจับกึมครั้งนี้ กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ได้จับกุมบุคคลต่างๆ เป็นจำนวนถึง 104 คน "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่า มีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลี ตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ ให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้ว ก็จะใช้กำลังเข้าทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่น ซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..." จากนั้นยังได้ทะยอยจับกุมประชาชนเพิ่มเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ. 2496 ก็ยังมีข่าวว่าได้จับกุมและสึกพระภิกษุที่เคยสนับสนุนและเผยแพร่สันติภาพอีก

คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ในปี พ.ศ. 2500



ครั้งที่10 กบฎ พ.ศ.2507 (1 ธันวาคม พ.ศ.2507) โดย พลอากาศเอกนักรบ บิณศรี เป็นหัวหน้า
- กบฏ พ.ศ. 2507 การก่อการกบฏในประเทศไทย ที่มักไม่ค่อยมีการบันทึกไว้ ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2507 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมผู้ก่อการกบฏทั้งหมด 10 คน โดยมากเป็น ทหารอากาศ มี ทหารเรือ และ ตำรวจ เข้าร่วมด้วย โดยทราบเรื่องว่าจะก่อการกบฏในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2507 ซึ่งผู้ก่อการกบฏ อาทิ เช่น พล.อ.อ.นักรบ บิณศรี อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า, พล.อ.ต.ละเอิบ ปิ่นสุวรรณ, พล.อ.ต.เอกชัย มุสิกบุตร, พ.ท.บุญพฤกษ์ จาฏามระ พ.ท.สุดใจ อังคณานุรักษ์, ร.อ. นรชัย จาฏามระ

ซึ่งศาลทหารได้ตัดสินจำคุกทั้งหมด 3 ปี 3 คน ได้แก่ พ.ท.บุญพฤกษ์ จาฏามระ, พ.ท.สุดใจ อังคณานุรักษ์ และ ร.อ.นรชัย จาฏามระ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508
ต่อท้าย #4 20 เม.ย. 2553, 1:04:19 ครั้งที่11 กบฎ 26 มีนาคม 2520 (26 มีนาคม พ.ศ.2520) โดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ เป็นหัวหน้า

- พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ และนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนาม เสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ฝ่ายทหารของรัฐบาลพลเรือน นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.กมล เดชะตุงคะ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.อ.เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก ได้ปราบปรามฝ่ายกบฏเป็นผลสำเร็จ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ. 2520 นับเป็นกบฏคนสุดท้ายที่ถูกประหารชีวิตตราบจนบัดนี้
ต่อท้าย #5 20 เม.ย. 2553, 1:04:48 ครั้งที่13 กบฎทหารนอกราชการ (9 กันยายน พ.ศ.2528) โดย พันเอกมนูญ รูปขจร มีพลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้า

- เป็นการก่อกบฏเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2528ของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พันเอกมนูญ รูปขจร พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งเป็นผู้นำแรงงาน โดยได้ความสนับสนุนทางการเงินจากนายเอกยุทธ อัญชันบุตร การกบฎครั้งนี้พยายามจะยึดอำนาจการปกครองที่นำโดยนายก รัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กบฏครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป

การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 3.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกอง บัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือ ป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ

ในส่วนของนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้นำกำลังทหารส่วนหนึ่ง และผู้นำสหภาพแรงงาน เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการ ขสมก. ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย

ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วยพลเอก เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ. พลโทชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพลเอกประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการฝ่ายต่อต้านขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าต่อต้าน และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พลโทสุจินดา คราประยูร พลโทอิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโทเกษตร โรจนนิล

เมื่อเวลาประมาณ 9.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏ ที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเข้าไปในบริเวณวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง ทำให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศเสียชีวิตสองคน คือ นายนีล เดวิส ชาวออสเตรเลีย และนายบิล แรตช์ ชาวอเมริกัน

ทั้งสองฝ่ายปะทะกันรุนแรงขึ้น และมีการเจรจาเมื่อเวลา 15.00 น. โดยพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล และพลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นตัวแทนฝ่ายกบฏ และทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ และถอนกำลังกลับที่ตั้งเมื่อเวลา 17.30 น.

ส่วนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส